เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะมีความคิดริเริ่มอยากจะทำ อยากจะเขียนคอนเทนต์เป็นของตัวเอง เพราะเดี๋ยวนี้ใคร ๆ เขาก็ทำกัน และตอนนี้ก็ทำได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะ ทั้งในเรื่องของเครื่องมือในการทำคอนเทนต์ รวมไปถึงช่องทางต่าง ๆ ที่เราสามารถนำผลงานไปเผยแพร่ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย
แต่บางคนมีแค่ความอยาก แต่ไม่กล้าลงมือทำ เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง และไม่รู้ว่าคอนเทนต์นึงต้องเขียนอะไรยังไงบ้าง ? วันนี้ นินจา การตลาดจะมาแชร์ความรู้ขั้นเบสิกในการเขียนคอนเทนต์ ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง อาจจะไม่ได้บอกละเอียดมากทุกขั้นตอนขนาดนั้น แต่ก็ถือว่าเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่นักทำคอนเทนต์ควรรู้
อ่านต่อ
“คอนเทนต์” เป็นสิ่งที่สำคัญมากจริง ๆ ในการทำธุรกิจในยุคนี้ เพราะถ้าทำออกมาได้ดี มีคุณภาพ ตรงกับความสนใจของลูกค้า หรือตรงกับวัตถุประสงค์ในการทำคอนเทนต์ ก็อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จของธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง
.
ยิ่งถ้าเราเป็นคนทำคอนเทนต์เอง บางทีอาจจะทำได้ดีกว่าการไปจ้างคนอื่นทำแทนก็ได้ เพราะเราย่อมรู้จัก target และ customer insights ของเราเป็นอย่างดี แต่ก็ต้องชัวร์ว่าเรารู้จริงนะ
และก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาแบบจริงจัง อยากให้ทุกคนลองนึกย้อนวันวาน ไปสมัยที่เรานั่งเรียนภาษาไทย ยังจำขั้นตอนของการเขียนเรียงความกันได้อยู่ไหม ? ถ้าใครจำได้ก็ยินดีด้วย คุณมาถูกทางแล้ว แต่สำหรับใครที่ลืมไปแล้ว ก็ไม่เป็นไรครับ สามารถทบทวนความจำจากบทความนี้ได้เช่นกัน
จากที่เราเคยได้ร่ำเรียนกันมานั้น การเขียนเรียงความจะมีองค์ประกอบหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 3 อย่าง นั่นก็คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป ซึ่ง 3 อย่างนี้แหละ ที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเขียนคอนเทนต์ได้ แต่อาจจะไม่ต้องเขียนแบบทางการเป๊ะ ๆ เหมือนเรียงความ แค่นำแนวทางมาปรับใช้เฉย ๆ ก็โอเคแล้ว
คำนำ
.
ก็คือการเกริ่นนำเข้าสู่เนื้อเรื่องนั่นแหละ ทำให้คนอ่านได้รู้ก่อนว่า เขากำลังจะอ่านเรื่องอะไร หรือต้องรู้อะไรก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาจริง ซึ่งไม่ควรเกริ่นกว้างหรือยาวเกินไป เพราะจะทำให้คนอ่านรู้สึกเบื่อหรืองงไปก่อน ควรเน้นความกระชับ และเขียนโน้มน้าวให้คนอ่านรู้สึกอยากอ่านต่อ
เนื้อเรื่อง
.
ในส่วนนี้คงไม่ต้องบอกอะไรกันมาก แค่เล่าเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าก็เท่านั้น ไม่ได้มีการจำกัดความสั้นหรือความยาวของเนื้อหาใด ๆ เลย แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ การเขียนที่เวิ่นเว้อเกินไป เขียนเยอะ เขียนยาวจริง แต่จับใจความไม่ได้ อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง
.
ดังนั้น ควรจะตั้งวัตถุประสงค์ในการเขียนก่อนว่า เขียนเพื่ออะไร และเขียนให้ใครอ่าน พร้อมกับกำหนดขอบเขตหรือโครงเรื่องให้ชัดเจนก่อนลงมือเขียน จะได้ไม่เขียนออกทะเลไปไกล จนหาทางจบไม่ได้ และช่วยให้เล่าเรื่องราวได้อย่างเป็นลำดับ เพื่อไม่ให้คนอ่านสับสน
สรุป
.
เป็นการเขียนเพื่อเน้นย้ำใจความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของการเขียนให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ควรเขียนซ้ำกับคำนำ อาจจะเขียนด้วยใจความคล้าย ๆ เดิมได้ แต่ต้องมีการเปลี่ยนคำและรูปประโยคให้สวยงามและ smooth เพื่อไม่ให้คนอ่านรู้สึกว่าเราขี้เกียจเขียนโดยการ copy + paste หรืออาจจะเขียนสรุปโดยการฝากข้อคิด หรือคำถามปลายเปิด ให้คนอ่านไปคิดต่อยอดกันเองก็ได้เช่นกัน
พอพูดถึงการ copy + paste แล้ว ก็นึกขึ้นมาได้อีกเรื่องนึงว่า ถ้าเราทำคอนเทนต์โดยหาข้อมูลมาจากอินเตอร์เน็ต หรือที่ใดก็ตามแต่ ควรจะเขียนให้เป็นภาษาของตัวเองมากที่สุด ไม่สนับสนุนให้ทุกคนลอกคำพูดของคนอื่นมาเขียนนะ เพราะถ้าลูกค้าของเรารู้เข้าเนี่ย ภาพลักษณ์ของแบรนด์เราจะพังมาก จนอาจจะกู่ไม่กลับเลยก็ได้ ทางที่ดีอย่าเสี่ยงเลยดีกว่า พยายามหลีกเลี่ยงการทำอะไรที่อาจจะผิดกฎหมายทางด้านลิขสิทธิ์ไว้ก่อน เช่น เขียนคอนเทนต์ด้วยภาษาของตัวเอง ให้เครดิตข้อมูลว่าเราได้ข้อมูลมาจากที่ไหน หรือใช้รูปภาพที่ไม่ติดลิขสิทธิ์ เป็นต้น
สำหรับ 3 องค์ประกอบสำคัญ ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่ได้กล่าวไปข้างบนนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเขียนคอนเทนต์ได้ในทุกแพลตฟอร์มเลยนะ บางแพลตฟอร์มอาจจะใช้ทั้ง 3 ส่วน แต่บางแพลตฟอร์มอาจจะเลือกใช้เพียงบางส่วนก็ได้ เช่น
Facebook ที่สามารถนำทั้ง 3 ส่วนนี้ ไปใช้ในการทำ Album Content
Instagram อาจจะเลือกใช้เฉพาะส่วนของการเกริ่นนำ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า หรือเพิ่มในส่วนของเนื้อเรื่อง ในการทำคอนเทนต์แบบ Storytelling หรือการเล่าเรื่องราว
Twitter ต้องใช้หลักของการเกริ่นนำสูงมาก เพราะการโพสต์ใน Twitter มีการจำกัดจำนวนข้อความในการโพสต์ (280 ตัวอักษร/ ทวีต) อาจจะใช้การเกริ่นนำให้คนอยากรู้ แล้วใส่ลิงก์เพิ่มเติมเพื่ออ่านต่อ
บทความใน Website อันนี้ใช้ทั้ง 3 ส่วนแบบหนัก ๆ เลย เพราะรูปแบบมีความคล้ายคลึงกับเรียงความมากที่สุด แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า ไม่ต้องเขียนแบบทางการมากเท่าเรียงความ อาจจะพิจารณาว่า เรากำลังสื่อสารกับใคร จะได้เลือกใช้ระดับภาษาได้อย่างเหมาะสม