นับเป็นข่าวใหญ่ ข่าวด่วน ที่เหล่านักการตลาด หรือพ่อค้าเเม่ค้าออนไลน์ต้องรู้!!! ในตอนนี้ Facebook ได้ออกมาระบุว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2021 นี้เป็นต้นไป โฆษณาบน Facebook ในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% เอาเเล้วสิ สงสัยไหมครับว่า ทำไมอยู่ดี ๆ ถึงมาเรียกเก็บภาษี VAT 7%
คำถามต่อมาก็คือ แล้วตกลงบุคคลธรรมดาอย่างเราต้องจ่ายจริง ๆ ไหม ? เป็นเรื่องของบริษัทจดทะเบียนอย่างเดียวเหรือเปล่านะ ? แล้วเรื่องราวนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ? ทำไมอยู่ดี ๆ ก็ต้องมาจ่ายด้วย ? ถ้าอยากรู้เเล้ว ตามผมมาเลยครับ มีทุกคำตอบอยู่ที่นี่แล้ว
ผมจะ #สรุปให้ในโพสต์เดียว
1. ในวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากกฎหมาย e-Service ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการจากต่างประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับกรมสรรพากร โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ เเละในขณะนี้ผู้ให้บริการเเพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติในไทยก็ทยอยกันมาลงการเสียภาษีผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) ของกรมสรรพากร อย่างต่อเนื่อง
2. อธิบดีกรมสรรพากร ได้บอกไว้ว่า จากการศึกษาตัวอย่างของประเทศที่เริ่มจัดเก็บภาษี e-Service ไปแล้ว 60 ประเทศทั่วโลก พบว่าภาษี e-Service จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมากขึ้น เช่น ที่ผ่านมาคนไทยที่ทำธุรกิจออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่แพลตฟอร์มต่างชาติกลับไม่เคยต้องเสีย ดังนั้น การมีภาษีตัวนี้ขึ้นมานอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ก็จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย และอาจจูงใจให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ หรือกระทั่ง Unicorn ของไทยก็เป็นได้
3. ทางกรมสรรพากรนั้นมองว่า การเรียกเก็บ VAT กับ e-Service จะเป็นหนึ่งในหนทางในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งทางสรรพากรเองก็คาดว่าการจัดเก็บภาษีนี้ จะสร้างรายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ไว้ที่ 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
4. ซึ่งทั้งนี้ ทั้งนั้น บริการทางออนไลน์เองก็มีเเนวโน้มที่จะโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะคนไทยมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่า 75 % ทั้งการดูหนัง ฟังเพลงผ่านช่องทางออนไลน์ การซื้อขายเพลงออนไลน์นั้นเติบโตขึ้นถึง 9% การซื้อขายเกมส์ก็เติบโตขึ้นถึง 7.8% เเละโฆษณาออนไลน์เองก็โตขึ้นถึง 16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มา ทำให้ในจุด ๆ นี้ในอนาคตจะเป็นแหล่งรายได้ที่ดีให้กับประเทศ
5. เเละถ้ามองในอีกมุมมองหนึ่ง การเก็บภาษีออนไลน์กับบริษัทไอทีต่างชาตินั้นก็มีส่วนช่วยในการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในไทย อย่างที่บอกไปว่า บริษัทออนไลน์ไหนในไทยที่มีเเนวโน้มของธุรกิจเติบโตไปในทางที่ดี บริษัทเหล่านี้ก็ต้องเสีย VAT เป็นเรื่องปกติอยู่เเล้ว ในขณะที่เเต่ก่อนนี้บริษัทต่างชาตินั้นไม่ต้องเสีย VAT ในการดำเนินธุรกิจเลย ในกรณีนี้เลยถือว่าเป็นการช่วยสร้างความเท่าเทียมในไทย
6. โดยเงื่อนไขการเก็บภาษีนี้นะครับ จะมีผลต่อผู้ลงโฆษณาที่ตั้งค่า ‘เป้าหมายการขาย’ กับธุรกิจหรือที่อยู่ใด ๆ ก็ตามที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย และในการตั้งค่าการชำระเงิน ผู้ใช้จะต้องเพิ่มหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นการแสดงบนใบเสร็จค่าโฆษณา
7. ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใช้โฆษณา Facebook ต้องทำ คือ ไปกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ทุกคน ย้ำว่าทุกคน ในหน้าตั้งค่าการชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม และไม่ว่าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเอาไว้แล้วหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องกรอกทุกคน
8. เพราะอะไรถึงต้องกรอก ประเด็นอยู่ตรงนี้ สำหรับผู้ที่เพิ่มหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไว้แล้ว ทาง Facebook จะไม่บวก VAT ในการซื้อโฆษณาบน Facebook ของผู้ใช้ หมายถึง ใช้เท่าไหร่ เสียเงินเท่านั้นตามที่ซื้อ
9. แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบในการประเมินตนเองและการจ่าย VAT ภายใต้การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ตามกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยเอง (นั่นก็คือ ภพ.36) ซึ่งถ้าเราไม่ได้มียอดขายถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเอาไว้ ถึงกรอกไปเพื่อจะหลบเลี่ยงโดนเก็บเพิ่มจาก Facebook ทันที แต่ก็จะต้องจ่ายภาษีนี้อยู่ดี เพราะเชื่อว่าสรรพากรคงหาทางเก็บย้อนหลังจากคนที่กรอกเลขภาษี (แต่ไม่ยอมไปยื่นภพ.36 จ่ายภาษีเพิ่ม) ได้อยู่ดี
10. ดังนั้นผู้ที่ไม่ได้เพิ่มหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี จะมีการเรียกเก็บ VAT เพิ่มทุกครั้งที่ผู้ใช้ถูกเรียกเก็บค่าโฆษณา ไม่ว่าจะซื้อโฆษณาบน Facebook เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรือส่วนตัวก็ตาม และในการเรียกเก็บเงิน ผู้ใช้งานจะไม่ถูกเรียกให้ชำระเงินเร็วขึ้น แต่อาจถูกเรียกเก็บเงินมากกว่าเกณฑ์การชำระเงิน
11. สรุปคือ Facebook จะบังคับให้เราต้องกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีเพิ่ม ถ้าไม่กรอกก็ต้องจ่ายเพิ่ม 7% สถานเดียว แต่ถ้ากรอกแล้วเลขประจำตัวผู้เสียภาษีนั้น ไม่ได้อยู่ในฐานการชำระภาษี 7% (ยอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาท และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ อันนี้เพิ่มเติมก่อนว่า อาจโดนเรียกเก็บย้อนหลังก็เป็นได้)
12. แล้วบุคคลธรรมดาจะไปเอาเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมาจากที่ไหน ถ้าจะลองเอามากรอกเพื่อให้ Facebook ไม่เรียกเก็บเงินเพิ่ม 7% คำตอบก็คือ ใช้เลขตามบัตรประจำตัวประชาชนได้เลย แต่ย้ำอีกทีนะว่า น่าจะโดนเรียกเก็บย้อนหลังถ้าจะลักไก่กรอกไป
13. ซึ่งไม่ใช่แค่ Facebook รายเดียวเท่านั้น ผู้ให้บริการ Social Media ต่าง ๆ ในไทย อย่างเช่น Google, TikTok เอง ก็ต้องเรียกเก็บค่า VAT 7% ตามกฎหมาย e-Service นี้เพิ่มเช่นกัน
14. แล้วใครบ้างน่าจะได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ คำตอบที่ชัด ๆ ก็จะเป็นภาครัฐ ที่เก็บภาษีในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ส่วน Facebook และ Social Media อื่น ๆ ที่เข้าข่ายกฏหมาย e-Service ไม่ได้เสียประโยชน์ใด ๆ จากเรื่องนี้ เพราะเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ใช้งาน
15. ส่วนกรณีของธุรกิจที่ซื้อสื่อบน Facebook Ads และ Social Media อื่น ๆ ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว ก็ไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ เพราะเดิมที ธุรกิจที่ซื้อสื่อเหล่านี้ ก็นำต้นทุนนี้มาหักค่าใช้จ่ายกันเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งแต่ก่อนยังไม่มีกฎหมาย e-Service นี้ การจะนำต้นทุนนี้มาหักค่าใช้จ่ายทางบัญชีได้ ก็จะต้องใช้วิธีจ่ายเงิน VAT 7% ให้รัฐบาลเพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่าโฆษณาที่สื่อต่าง ๆ เรียกเก็บมา ผ่าน ภพ.36
16. ดังนั้นตามข้อ 8 ที่ระบุว่าธุรกิจที่เพิ่มเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไว้แล้ว ทาง Facebook จะไม่บวก VAT ในการซื้อโฆษณา ธุรกิจนั้นจะได้ประโยชน์ไม่ต้องจ่าย VAT ก็ได้หรือไม่นั้น คำตอบอยู่ที่ข้อที่ 15 คือ ถ้าเค้าจะเอาต้นทุนนี้มาหักค่าใช้จ่าย ก็จะต้องไป ก็ต้องไปยื่น ภ.พ. 36 และนั่นก็หมายถึงก็ต้องจ่าย VAT อยู่ดี
17. หากใครกำลังสงสัยว่า ทำไมการนำต้นทุนนี้มาใช้หักค่าใช้จ่ายทางบัญชีถึงสำคัญมากจนต้องยอดจ่ายภาษี VAT 7% เพิ่มเข้าไป ก็ต้องบอกว่า มันมีผลต่อตัวเลขกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายทางบัญชี เพราะหลังจากนั้น มันจะนำไปคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมันมีตัวเลขถึง 20% ของกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายเลยทีเดียว (กรณี SME ที่ยอดขายไม่ถึง30 ล้านบาทต่อปี จะไม่เสียภาษีนี้ หากกำไรไม่เกิน 300,000 บาท หากเกินก็จะมีภาษีแบบขั้นบันได)
ถ้าเกิดใครมีข้อสงสัยหรือมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเก็บภาษีทาง Facebook เขาไม่สามารถให้คำแนะนำด้านภาษีได้นะครับ ผมเเนะนำว่าให้ติดต่อกรมสรรพากรในประเทศไทยดีกว่า เพื่อความเข้าใจเเละความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล
เสาร์นี้ เวลา 17.30 น. ผมจะมาอธิบายเรื่องนี้ในไลฟ์นะครับ
มาฟังพร้อม ๆ กันได้ที่นี่