ถ้าหากจะให้พูดถึงบริการสตรีมมิงเพลงและพอดเเคสต์ หนึ่งในดวงใจของแต่ละคนก็คงหนีไม่พ้น Spotify เพราะด้วยรูปแบบการใช้งานที่ง่าย เเละ AI นั้นก็เจ๋งสุด ๆ ไปเลย
เเต่กว่าที่ Spotify จะมายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ เขาผ่านอะไรมาบ้าง และใครคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Spotify ? วันนี้นินจาการตลาดจะมาสรุปให้ฟัง
เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมานั้น Spotify นั้นมีรายได้ 308,841 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มต่อเดือนมากถึง 365 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นสมาชิกที่จ่ายค่าบริการ Subscription ทั้งหมด 165 ล้านคน และในปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งคนสำคัญ หรือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเเพลตฟอร์ม Spotify คือชายที่มีชื่อว่า Daniel Ek
แต่กว่าที่เขาจะมีวันนี้ได้ เขาก็เคยพลาดและหลงผิดมาก่อนเกี่ยวกับใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย หลงระเริงในอำนาจของเงิน จนชีวิตเขาพังและกลายเป็นโรคซึมเศร้า เเต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้เขาได้เปลี่ยนไปแล้ว เขาได้กลายเป็น เจ้าของแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 365 ล้านคนทั่วโลก แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เขาได้เปลี่ยนไป และเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเอามาก ๆ จนทำให้สงสัยเลยว่าอะไรคือจุดเปลี่ยนในชีวิตเขา ? อะไรที่ทำให้เขาคิดได้ ? เเละเรื่องราวนี้มันเป็นมายังไง ไปดูกันเลยครับ
Daniel Ek เกิดในย่านร็อคสเวด เมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน เขาเกิดมาในครอบครับนักดนตรี ที่มีคุณยายเป็นนักร้องโอเปร่า ปละคุณตาเป็นนักเปียโน ส่วนพ่อแท้ ๆ นั้นก็มาจากไปตั้งแต่เขายังเล็ก ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับพ่อเลี้ยงที่ทำงานทางด้านไอที และครอบครัวเหล่านี้แหละครับที่ทำให้เขาเติบโตมาพร้อมกับทักษะทั้ง 2 อย่างนี้
เมื่อเขาอายุได้เพียงแค่ 13 ปี เขานั้นได้เริ่มทำธุรกิจด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ด้วยการเริ่มสร้างเว็บไซต์ให้กับลูกค้า ทำมาเรื่อย ๆ จนอายุ 18 ปี เเละสามารถสร้างรายได้สูงถึง 150,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว หลังจากที่เขาเรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้ว ก็ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ที่ KTH Royal Institute of Technology ในประเทศสวีเดน แต่หลังจากได้เข้าไปเรียนได้ไม่นาน เขารู้สึกว่าเนื้อหาที่เรียนมีแต่ทฤษฎี เขาจึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อมาโฟกัสกับงานด้านไอที ที่ได้ลงมือทำมันแบบจริงจัง ด้วยความสามารถของ Daniel Ek หน้าที่การงานของเขาจึงเป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้มีโอกาสได้ทำงาน กับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตมากมาย
แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาคือ ในระหว่างที่ตัวเขาเองนั้นได้ทำงานกับบริษัทอื่น เขาเองก็ได้ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจของเขาเองด้วย โดยบริษัทมีชื่อว่า Advertigo ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างทำโฆษณาออนไลน์
ในปี 2006 เขาได้ขายบริษัทให้กับ Tradedoubler บริษัทการตลาดแห่งหนึ่งในสวีเดนในราคา 64 ล้านบาท นั่นทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีหนุ่มในวัย 23 ปี ด้วยความที่เขาประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เงินที่เขาหามาได้นั้น หมดไปกับการไปเที่ยวไนต์คลับและใช้จ่ายซื้อของหรูหรา อย่างรถเฟอร์รารี และอพาร์ตเมนต์สุดหรู เพื่อความสะดวกสบายของชีวิต
เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้นชีวิตของเขาก็พังลงอย่างรวดเร็ว ก่อนหน้านี้เขายังเป็นหนุ่มที่ประสบความสำเร็จอยู่เลย แต่ตอนนี้กลายมาเป็นคนที่กำลังล้มเหลว และกลายเป็นโรคซึมเศร้า สุดท้ายเขานั้นได้ตัดสินใจทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อหนีไปอยู่ในกระท่อมกลางป่าเพียงลำพัง
ช่วงนั้นถือเป็นช่วงที่ตกอับที่สุดของชีวิต แต่ก็ยังเหลือความโชคดีอยู่บ้าง เขาได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานเก่าชื่อ “Martin Lorentzon” Martin เองก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Tradedoubler และเคยผ่านจุดที่ร่ำรวยอย่างรวดเร็วมาเช่นกัน จากการที่เขานำบริษัท Tradedoubler เข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2005 ทำให้ Martin เข้าใจความรู้สึกนี้ และสามารถให้คำแนะนำ Daniel ได้
หลังจากที่ได้คำแนะนำจาก Martin ทำให้ Daniel เริ่มได้สติ และกลับมาทำในสิ่งที่เขาชอบอีกครั้งคือการ เล่นดนตรี แม้งานที่ผ่านมาจะเป็นงานด้านไอทีทั้งหมด แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เขารักและชอบมาโดยตลอดคือ “ดนตรี” ในช่วงนั้นเขาบอกว่า “แม้จะมีคนฟังเพลงมากขึ้น แต่เขารู้สึกหงุดหงิดที่วงการเพลงกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ”
เนื่องจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Napster ที่ให้คนสามารถแชร์ และดาวน์โหลดเพลงได้ฟรี ผ่านอินเทอร์เน็ต แถมตัวเเพลตฟอร์ม Napster นั้นยังสามารถสร้างสถิติที่มีผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มมากถึง 80 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งทำให้รายได้ของค่ายเพลงต่าง ๆ หายไปเป็นจำนวนมาก และเจ้าของ Napster นั้นก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหนเลย เขาคือ Sean Parker อดีตแฮกเกอร์ ผู้เคยเป็นประธานบริษัท Facebook นั่นเอง ก็ถ้าใครเคยดู The Social Network หนังที่เล่าประวัติการก่อกำเนิดของ Facebook เค้าก็คือผู้ชายคนที่เข้ามามีบทบาทต่อการก้าวกระโดดในช่วงแรกของ Mark S. นั่นเองครับ
จนในที่สุด พวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้ง Spotify ขึ้นมา โดยพวกเขาต้องการให้ Spotify มอบประสบการณ์ดี ๆ ให้ลูกค้าคือ ทุกคนสามารถเข้าถึงเพลงจำนวนมาก ได้แบบถูกลิขสิทธิ์โดยไม่ต้องมาหาซื้อทีละเพลและศิลปินและค่ายเพลงต้องได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่พวกเขาตั้งไว้สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือ การซื้อลิขสิทธิ์จากค่ายเพลง เพื่อนำเพลงมาให้คนได้ฟังบนแพลตฟอร์ม
แม้การเจรจากับค่ายเพลงจะค่อนข้างยาก จนทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี แต่ในที่สุด Spotify ก็ได้เปิดบริการเป็นครั้งแรกในประเทศโซนยุโรป ในช่วงปี 2008 – 2009 และหลังจากนั้น Spotify ได้ทำการขยายฐานผู้ใช้งานให้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการเปิดบริการในประเทศอื่นเพิ่มขึ้น
ด้วยหน้าตาที่เป็นมิตร ใช้งานง่าย และที่สำคัญคือ AI ที่รู้ใจผู้ใช้งาน จนแม้แต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เองก็ชอบ Spotify เช่นกัน จึงทำให้ปัจจุบัน Spotify มีจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มต่อเดือนทั้งหมดอยู่ที่ 365 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นสมาชิกที่จ่ายค่าบริการ Subscription ทั้งหมด 165 ล้านคน และมีรายได้ปีที่ผ่านมาทะลุ 3 แสนล้านบาท
ลองมาดูการเติบโตของรายได้ ของ Spotify
ปี 2018 รายได้ 206,116 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 266,277 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 308,841 ล้านบาท
ปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ในขณะที่ Daniel Ek มีมูลค่าทรัพย์สินจากการประเมินอยู่ที่ 125,000 ล้านบาท นับว่าเป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเลยทีเดียว
เเล้วถ้าถามผมว่าแล้วเราทุกคนได้อะไรจากเรื่องนี้ ? อย่างแรกเลยก็คือ การมองเห็นโอกาสจากวิถีชีวิตปกติของผู้คน ที่เคยชินกับบางสิ่ง โดยการกระตุ้นให้เห็นวิธีการใหม่ ๆ ที่ช่วยทำให้ชีวิตพวกเค้าดีขึ้นได้ ซึ่งนั่นถือเป็นหลักแนวคิดสำคัญของเหล่า Start up ที่มีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้
นอกเหนือจากนั้น ผมก็คงจะบอกว่า เราได้เรียนรู้ว่า ความร่ำรวย ถ้าไปหลงระเริงกับมันจนมากเกินไป ไม่ตั้งสติเเละคิดทุกสิ่งให้รอบคอบ มันอาจทำให้ชีวิตของเรานั้นพังลงและล้มเหลวได้ในที่สุด ถ้าใช้จ่ายอย่างไม่มีสติ เหมือนกับที่ Daniel Ek เคยพลาด ก่อนที่จะมาสร้าง Spotify
และเขาได้เรียนรู้แล้วว่าต้องใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร สำหรับบางคนนะครับที่จะทำการอะไรที่ยิ่งใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น มันก็มีความหมายไม่แพ้การมีเงินมีเงินทองที่มากมาย เช่นเดียวกับที่ Daniel Ek ลงมือปลุกปั้น Spotify ขึ้นมา โดยไม่ได้โฟกัสที่เรื่องเงินทองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการเปลี่ยนวงการเพลงให้ดีขึ้นกว่าเดิม