คิดจะพัก คิดถึง คิดแคท สโลแกนเลื่องชื่อ ที่ใครก็ต้องเคยได้ยิน. แต่…คุณคาดไม่ถึงแน่! ว่าใครเป็นคนริเริ่ม (คลิป)
.
ใครกันนะที่เป็นเจ้าของไอเดียขนมช็อกโกแล็ตสุดป็อปตัวนี้?
ขนมระดับตำนานตัวนี้ ไม่ได้เกิดมาจากความคิดของนักธุรกิจใหญ่ที่ไหน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านขนมแต่อย่างใด แต่…ไอเดียนี้เกิดมาจาก พนักงานโรงงานธรรมดา ๆ คนนึงเท่านั้นเอง
Credit : https://www.rowntreesociety.org.uk/explore-rowntree-history/rowntree-a-z/haxby-road-factory/
คิทแคทน่ะ มันมีจุดเริ่มมาจากบริษัทและโรงงานผลิตขนมที่ชื่อว่า Rowntree’s ในเมืองยอร์ก ประเทศอังกฤษ ในปี 1920 Rowntree’s ได้ลองเปิดตัวช็อกโกแลตบรรจุกล่องชื่อ คิทแคท
แต่พอวางจำหน่ายไปได้สักระยะ สินค้ากลับไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไร
.
บวกกับ Rowntree’s ต้องการหันไปโฟกัสกับการผลิตและทำตลาดขนมแบรนด์อื่น อย่าง Black Magic และ Dairy Box แทน ทำให้ คิทแคท สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปเรื่อย ๆ และต้องยกเลิกการผลิตไปในที่สุด
.
แต่…ชื่อคิทแคทก็ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ในปี 1935 เมื่อคนงานในโรงงาน Rowntree’s คนหนึ่ง ได้เสนอว่า โรงงานน่าจะผลิตขนม แบบที่สามารถพกพาและเก็บใส่กระเป๋าไปทำงานได้ เผื่อเอาไว้กินยามว่าง
.
ไอเดียนี้น่าสนใจเป็นอย่างมาก Rowntree’s จึงนำไอเดียนั้น มาสร้างสานต่อ เป็นขนมเวเฟอร์กรอบเคลือบช็อกโกแลต แบบ 4 แท่ง วางเรียงกัน ซึ่งแต่ละแท่งจะสามารถหักเพื่อแบ่งกินได้ และห่อด้วยแพ็กเกจจิงสีแดง ขนาดใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกง ได้พอดิบพอดี
ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Rowntree’s chocolate crisp” (โรวน์ทรี ช็อกโกแลต คริสป์) ไปวางจำหน่ายที่เมืองลอนดอน และทางตอนใต้ของอังกฤษ
ซึ่งพอเริ่มจำหน่ายได้ 2 ปี “Rowntree’s chocolate crisp” ก็ถูกเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น “KitKat chocolate crisp” แทน
.
และต่อมาในปี 1940 หลังจาก “KitKat chocolate crisp” ประสบความสำเร็จในอังกฤษแล้ว บริษัทก็ได้มองหาโอกาสในตลาดใหม่ ๆ โดยเริ่มส่งออก KitKat chocolate crisp ไปยังประเทศแคนาดา, แอฟริกาใต้, ไอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
.
แต่…ด้วยสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้นม ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ ประสบกับภาวะขาดแคลน บริษัทจึงจำเป็นต้องหยุดการผลิตช็อกโกแลตสูตรเดิมไว้ก่อน แล้วหันมาใช้ดาร์กช็อกโกแลต หรือช็อกโกแลตเข้มข้นที่ไม่ผสมนม แทนชั่วคราว
พร้อมกับเปลี่ยนแพ็กเกจจิง จากสีแดง เป็นสีน้ำเงิน เพื่อสื่อถึงสูตรที่เปลี่ยนไป….
Credit : https://logos-world.net/kit-kat-logo/
หลังจากที่สงครามสิ้นสุดลง นมวัตถุดิบสำคัญก็เริ่มกลับมาเข้าสู่สภาวะปกติ ไม่ขาดแคลนละ และบริษัทก็กลับมาใช้ช็อกโกแลตสูตรเดิมที่ผสมนมอีกครั้ง พร้อมเปลี่ยนแพ็กเกจจิงกลับไปเป็นสีแดง และเปลี่ยนชื่อแบรนด์จาก KitKat chocolate crisp เป็น “KitKat” แทน เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและเรียกชื่อแบรนด์
.
แล้วสโลแกนเลื่องชื่อของคิทแคทละ ใครเป็นคนคิด? ใช่พนักงานคนเดิมหรือเปล่า?
ไม่ใช่ครับ รอบนี้ไม่ใช่ แต่เป็นคุณ Donald Gilles ผู้บริหารของ JWT Orland ที่ลอนดอน
ที่ได้สร้างสรรค์ประโยคโฆษณาฮิตติดหูอย่าง “Have a Break, Have a KitKat” ขึ้นมาให้กับคิทแคท
หรือในเวอร์ชันแบบไทย ๆ ที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดีว่า “คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท” ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประโยคโฆษณา ที่ถูกใช้มายาวนานที่สุดในโลก นับตั้งแต่ปี 1957…
.
และในประโยค ที่มีคำว่า Break นอกจากจะแปลว่า หยุดพัก แล้ว ยังแปลว่า หัก อีกด้วย ซึ่งเข้ากับคอนเซปต์ของคิทแคทเลย ที่ออกแบบมาเป็นแท่ง ๆ ไว้ให้ค่อย ๆ หักกิน นั่นเอง
.
แล้วธุรกิจของคิทแคท ก็เติบโตขึ้นไปอีกระดับ หลังจาก Rowntree’s ได้เข้าไปสร้างโรงงานกระจายสินค้าแห่งใหม่ ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 1970 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า ไปสู่ประเทศในแถบยุโรปทั้งหมด!!
.
พร้อมกับทำสัญญากับบริษัท เฮอร์ชีย์ (Hershey) ให้สิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายคิทแคทในสหรัฐอเมริกา แต่เพียงผู้เดียว
.
เรื่องทั้งหมดนี้ ทำให้แบรนด์คิทแคท เป็นที่รู้จักกันในตลาดโลกอย่างรวดเร็ว และยอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดด
.
ด้วยความสำเร็จของคิทแคท จึงไปสะดุดตาของบริษัท เนสท์เล่ (Nestlé) เข้า และบริษัทเนสท์เล่ ก็เลยตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ Rowntree’s ในปี 1988 ทำให้ เนสท์เล่ เป็นเจ้าของสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายคิทแคททั่วโลก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา นับแต่นั้นมา
.
ปัจจุบัน คิทแคท ถูกผลิตอยู่ใน 18 ประเทศทั่วโลก ภายใต้การดูแลของบริษัท เนสท์เล่
ได้แก่ บราซิล, เม็กซิโก, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แอฟริกาใต้, เยอรมนี, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, จีน, มาเลเซีย, ไทย, อินเดีย, ตุรกี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บัลแกเรีย และแอลจีเรีย
.
แต่…ในส่วนของสหรัฐอเมริกา จะอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท เฮอร์ชีย์
.
แต่ที่น่าสนใจและบางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน คือ ขนาดและจำนวนแท่งในคิทแคท 1 ห่อ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่าง ออสเตรเลียและฝรั่งเศส จำหน่ายขนาดสิบสองแท่ง สำหรับทั้งครอบครัว แต่ในญี่ปุ่น มีจำหน่ายแบบขนาดเล็กกว่าครึ่งหนึ่งของขนาดปกติ
และในบางประเทศ มีจำหน่ายแบบขนาดสามแท่ง
.
ซึ่งนอกจากรสช็อกโกแลตแล้ว คิทแคท ยังได้สร้างสรรค์และออกรสชาติใหม่ ๆ มาให้กับผู้บริโภคได้ลิ้มลอง แบบไม่มีเบื่อ ประเดิมด้วยรส…? รสส้ม ที่วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1996 ในประเทศอังกฤษ ตามด้วยรสมินต์, รสคาราเมล และอื่น ๆ อีกมากมาย
.
โดยมีทั้งรสที่แบบจำหน่ายไดตลอดทั้งปี กับแบบที่มีจำนวนจำกัด วางจำหน่ายเฉพาะในบางช่วงเท่านั้น
.
ซึ่งบางรสชาติก็ได้รับความนิยม แต่…ก็บางรสชาติที่ไม่ประสบความสำเร็จ!!
แต่ถึงจะมีรสชาติที่ไม่ติดตลาดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่คิทแคทก็ไม่หยุดที่จะเดินหน้าพัฒนาและออกรสชาติใหม่ ๆ มาให้ผู้บริโภคได้ลองอยู่ตลอดเวลา
.
ซึ่งประเทศที่คิทแคท ออกนวัตกรรมรสชาติมากที่สุด คือประเทศอะไร ให้ทาย?
.
ญี่ปุ่นนั่นเอง โดยเขามีคิทแคทให้เลือกซื้อมากกว่า 300 รสเลยทีเดียว!!!
ความหลากหลายของคิทแคทในประเทศญี่ปุ่น เกิดจากทางเนสท์เล่ ต้องการให้แบรนด์คิทแคท สามารถเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นได้ โดยปกติคนญี่ปุ่นในแต่ละพื้นที่ จะมีความภูมิใจในจุดเด่นของจังหวัดหรือท้องถิ่นของตัวเอง
.
คิทแคท เลยนำจุดเด่นเหล่านั้น มาสร้างเป็นรสชาติต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ หรือสร้างรสชาติที่หาไม่ได้จากที่ไหน อย่างเช่น รสมันม่วง จากโอกินาวะ, รสโมมิจิ มันจู จากฮิโรชิมะ, รสวาซาบิ จากชิซูโอกะ, รสชาเขียวมัตจะ จากเกียวโต
.
นอกจากนี้ ชื่อคิทแคทในภาษาญี่ปุ่น จะออกเสียงว่า “คิตโตะ คัตสึ” ซึ่งมีความหมายว่า
“จะต้องชนะอย่างแน่นอน” คนญี่ปุ่นจึงนิยมซื้อคิทแคท ไปเป็นของขวัญนำโชคให้กันอีกด้วย
.
เรื่องทั้งหมดนี้ นอกจากจะทำให้คิทแคท สามารถเข้าถึงและครองใจกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นแล้ว
ด้วยความแปลกใหม่ของรสชาติ ยังทำให้คิทแคทในญี่ปุ่น เป็นอีกของฝากยอดฮิต ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เมื่อมาญี่ปุ่น ก็ต้องหิ้วกลับไปฝากเพื่อนฝูง หรือคนในครอบครัว
.
แล้วคุณรู้หรือเปล่า คิทแคท (KitKat) เป็นหนึ่งในขนมที่ขายดีสุดในโลก โดยเฉลี่ยแล้ว ทุก ๆ วินาที คิทแคทจะขายได้ 540 แท่ง หรือคิดเป็นกว่า 17,600 ล้านแท่งต่อปี..
.
เส้นทางของ คิทแคท จึงได้ให้ข้อคิดหรือข้อสรุปที่ว่า จริง ๆ แล้วนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่จะประสบความสำเร็จ อาจเกิดขึ้นจากแนวคิดของ คนที่อยู่หน้างาน คนที่ทำ ที่อยู่กับมันทุกวัน หรือ พนักงานที่อยู่กับลูกค้าโดยตรง โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเจ้าของบริษัท หรือผู้เชี่ยวชาญเก่ง ๆ อย่างเดียว
.
การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นหรือแนวคิดของพวกเขาเหล่านั้น อาจนำมาซึ่งมุมมองหรือโอกาสทางธุรกิจที่แตกต่าง และคาดไม่ถึง แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ดี
.
ถ้าวันนั้น Rowntree’s มองข้ามไอเดียเล็ก ๆ จากพนักงานธรรมดาคนนึงไป วันนี้คิทแคทก็คงไม่ประสบความสำเร็จเท่าในทุกวันนี้ และเราก็อาจไม่มีคิทแคทไว้ให้ได้หักกินกัน
.
แต่โชคดีไปที่เขารับฟัง จนได้มีขนมอะไรอร่อย ๆ มาให้เรากิน บอกเราหน่อยไหม ว่ารสอะไร คือ รสโปรดของคุณ?
จาก…Rowntree’s สู่ KitKat ขนมที่ตายแล้วฟื้น!!
อ่านกันมาเยอะแล้ว ใครที่อยากดูคลิปเราก็มีให้ แล้วอย่าลืม กด Like กด Share กด Subscibe เป็นกำลังให้เหล่านินจาการตลาดด้วยนะครับ