หลายคนคงเห็นผ่านตาบนโลกโซเชี่ยลมีเดีย กับจดหมายประกาศแจ้งวันหยุดพิเศษถึงพนักงาน จากภาพยนตร์เรื่องหลานม่า ที่ตอนนี้ดูเหมือนกระแสที่เริ่มต้นจาก GDH ฉบับนี้ จะลุกลามให้หลายแบรนด์พากันเพิ่มวันหยุดให้กับพนักงานในโลกความเป็นจริง
หลานม่าเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่จะทำให้ผู้ชมย้อนนึกถึงความรักของคนใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุกับลูกหลานที่เป็นคนเจนรุ่นหลัง กับการสะท้อนถึงทัศนคติและวิธีคิดของคนที่เกิดมาต่างยุคสมัย แต่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน
.
หนังเรื่องนี้สร้างโดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับจาก ฉลาดแกมโกง และ โปรเจกต์ เอส เดอะซีรี่ส์ รวมทั้งยังมีนักแสดงระดับแม่เหล็กอย่าง บิวกิ้น พุฒิพงศ์, เผือก-พงศธร, ดู๋ สัญญา, ตู ต้นตะวัน และ แต้ว อุษา เสมคำ
.
หนึ่งในแบรนด์ที่ฉกฉวยเกาะกระแสนี้ ให้เป็นโอกาสที่ฮือฮายิ่งกว่าต้นโพสต์อย่าง GDH ก็คือ AP Thailand ที่ทำถึงและถูกใจคนทำงาน นั่นคือการประกาศให้วันที่ 12 เมษายน 2567 นี้ ยกให้เป็นวันหยุดพิเศษที่เพิ่มให้พนักงาน AP Thailand ในชีวิตจริง
AP Thailand ได้อธิบายถึงวันหยุดนี้ว่า ตั้งใจที่จะมอบให้พนักงานเป็นกรณีพิเศษ พร้อมแจงสิทธ์วันหยุดครั้งนี้ว่าสามารถใช้ได้ทั้งหยุดเพื่อวันเกิด, หยุดเพื่อวันแต่งงานและฮันนีมูนโดยไม่จำกัดเพศ, หยุดเพื่อดูแลคนป่วยในครอบครัว, หยุดพักผ่อนประจำปีตามอายุงาน และหยุดเพื่อซ้อมและรับปริญญา
.
หนึ่งในเหตุผลที่น่าสนใจ ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทยอย่าง AP Thailand ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมแคมเปญวันหยุดในวันที่ 12 เมษายนนี้ว่า
.
“แคมเปญของภาพยนตร์เรื่องหลานม่า สร้างความตระหนักในการให้เวลาเพิ่มขึ้นแก่ครอบครัว ซึ่งบริษัทมีแนวคิดเดียวกัน ไม่ได้เพิกเฉยต่อคุณภาพชีวิต และให้เห็นความสำคัญของพนักงานมาก่อน รวมถึงยังอยากให้พนักงานในเครือนั้นมี Work Life Balance ที่ดี โดยมีทางเลือกให้แก่ตนเอง”
.
แน่นอนว่ากระแสจดหมายฉบับนี้ ดูจะกลายเป็นประโยชน์กับตัวภาพยนตร์เอง ที่เน้นย้ำให้คอหนังได้รู้ถึงกำหนดฉายวันแรก (4 เมษายน) และชักชวนให้ครอบครัวไปใช้เวลาร่วมกันในโรงภาพยนตร์กับหนังหลานม่า ทำให้คนที่อินกับกระแสนี้ เฝ้ารออยากจะที่ชมหนังเรื่องนี้มากขึ้น
.
ขณะที่แบรนด์อื่นๆ ที่เข้าร่วมไวรัลนี้ ก็พลอยได้พื้นที่สื่อไปด้วยในเชิงภาพลักษณ์ ที่เห็นความสำคัญในเรื่องของ Work Life Balance กลายเป็นองค์กรที่ใส่ใจถึงคุณค่าของเวลา และพร้อมที่จะมอบเวลาคืนกลับไป เพื่อให้พนักงานได้มีช่วงเวลาดีๆ กับคนพิเศษ
ทีนี้ถ้าว่ากันในมุมของการตลาด สิ่งที่ภาพยนต์เรื่องนี้ได้รับไปเต็ม ๆ คือ การได้ผลประโยชน์ในด้านการโปรโหมดจากสื่อสายเมาท์ (Earned Media) ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสื่อที่ควบคุมได้ยากที่สุด ทั้งด้านเนื้อหาและด้านการกำหนดจำนวนการเข้าถึงของกลุ่มเป้าหมาย
.
คือถ้าถูกพูดถึงในทางที่ดี ก็ดีใจหาย แต่ถ้าถูกพูดถึงในแง่ร้าย ก็ร้ายใจหด
.
นั่นหมายถึงสื่อสายเมาท์ เป็นสื่อที่ได้รับความเชื่อถือที่สุด (ทั้งมุมบวก หรือมุมลบ ขึ้นอยู่กับว่าจะถูกเลือกในการพูดถึงมุมไหน) เมื่อเทียบกับสื่อสายเปย์ (Paid Media) และ สื่อสายสร้าง (Owned Media)
.
แล้วยิ่งได้จำนวนของการพูดถึงจากสื่อเบอร์ต่าง ๆ ทั้งน้อยใหญ่ เป็นไวรัลในช่วงเวลาก่อนหนังจะออกฉายไม่ถึงสัปดาห์ ซึ่งไม่ว่าจะมาจากความบังเอิญหรือมาจากความตั้งใจของทีมกลยุทธ์ของหนังเรื่องนี้ก็ตาม
.
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กระแสของหนังนั้นมาแรงจนเชื่อได้ว่า น่าจะได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามในวันที่ออกฉายจริงๆ แน่นอน
อย่างไรก็ดี การวางกำหนดการฉายในช่วงต้นเดือนเมษายนนั้น ก็เชื่อว่านั่นคือความตั้งใจของทีมงาน ที่ต้องการให้ล้อกันกับเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันสำคัญย่อยที่เกี่ยวข้องเรื่องกับความสัมพันธ์ของครอบครัวอยู่ในช่วงวันหยุดยาวด้วย เช่น วันครอบครัว วันผู้สูงอายุ เป็นต้น
.
ลงตัว เหมาะเจาะ จนเคาะประตูบ้านของหลายครอบครัวที่ต้องพากันไปดูหนังเรื่องนี้ ซึ่งมารอลุ้นกันนะครับว่าหนังไทยเรื่องนี้จะได้ยอดทะลุไปกี่ล้านบาท
.
จากเคสนี้ ทำให้พวกเราเห็นกันได้ชัดขึ้นไปอีกว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของธุรกิจต่าง ๆ ส่วนมากแล้ว ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากความคิดเชิงกลยุทธ์ที่ได้ไตร่ตรองมาแล้วอย่างดี
.
เอาละ ไม่เถียงหรอกว่าใช้งบ ใช้เงินในการโปรโมท (เดี๋ยวใครอ่านแล้วจะว่า ก็เขามีงบเยอะนี่ ลองไม่ใช้เงินโปรโมทดูสิ) แต่ก็เป็นการใช้งบที่น่าจะคุ้มค่า เพราะผลลัพธ์ที่ได้ก่อนฉายประจักษ์ออกมาเป็นกระแสให้เห็นขนาดนี้แล้ว
.
“กลยุทธ์ที่คิดมาดี แล้วมีกระสุนมาเติม… เสริมด้วยความไม่บังเอิญ จนเกิดเป็นกระแสได้ในวงกว้าง…”
.
ลองเมนท์กันหน่อยว่าหนังเรื่องนี้จะไปสุดที่กี่ล้านบาท
.
อ้อ..แล้วก็ใครจำได้บ้างว่า “วันผู้สูงอายุ” และ “วันครอบครัว” ตรงกับวันที่เท่าไหร่ของเดือนเมษายน แล้วนอกจากสองวันนี้ เดือนเมษายนของทุกปียังมีวันสำคัญอะไรอีก คอมเมนท์กันได้นะครับ