ช่วงนี้โมเดลการตลาดแบบ Affiliate Marketing เริ่มแพร่หลายในวงการธุรกิจไทย ล่าสุดเป็นทาง แสนสิริ แบรนด์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของไทยที่เพิ่งเปิดตัว Sansiri Affiliate Program
โพสต์ปุ๊บ จองปั๊ป ให้ค่าแนะนำคอนโดสูงสุด 1 ล้านบาท ที่อ้างว่าเป็นจำนวนเงินมากที่สุดเท่าที่วงการอสังหาฯ เคยมีมา
.
ก่อนจะเจาะประเด็นของแสนสิริ ให้รู้ก่อนว่า Affiliate Marketing (การตลาดแบบพันธมิตร) คือ การทำการตลาดให้กับบริษัทอื่นด้วยการโปรโมทสินค้าและบริการผ่านช่องทางของเรา เช่น สื่อออนไลน์โซเชี่ยลมีเดีย หรือผ่านเว็บไซต์และแอพลิเคชั่น เมื่อมีลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อสินค้าหรือสมัครสมาชิก เราก็จะได้ค่าตอบแทนจากแบรนด์ที่เราโปรโมทให้
ดังนั้นองค์ประกอบของ Affiliate Markeing จึงประกอบด้วย 3 ฝ่ายคือ 1. Seller and Product creator เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ว่าจ้างให้โปรโมท 2. The affiliate or publisher คนที่โปรโมทสินค้าบริการให้ผู้ว่าจ้าง โดยจะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบค่าจ้างหรือค่าคอมมิชชั่น 3. Customer ลูกค้าที่ติดตาม Publisher ในช่องทางต่างๆ โดยซื้อสินค้าและบริการผ่านการโปรโมทของ Publisher
.
รายละเอียดของ Sansiri Affliate Program ระบุว่าต้องการครีเอเตอร์มาเข้าร่วมผ่าน 3 C คือ 1. Content สร้างวิดีโอคอนเทนต์สำหรับคอนโดทุกโครงการทุกระดับ ตั้งแต่ราคาจับต้องได้ (Affordable) ไปจนถึงราคาสูง (Luxury) 2. Connect แชร์คอนเทนต์ผ่านช่องออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม 3. Commission สร้างรายได้จากค่าคอมมิชชั่นสูงสุด 1 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายยอดขายครั้งนี้ที่ 200 ล้านบาท
.
เหตุผลที่น่าสนใจที่แสนสิริเลือกทำโมเดลการทำตลาด Affliate Marketing เพราะพบว่า 68.3% ของคนไทยที่ใช้โซเชี่ยลมีเดียราว 49 ล้านคน เป็นทั้งผู้เสพและผลิตคอนเทนต์ ประกอบกับเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคคุ้นชินกับการใช้จ่ายออนไลน์ จึงมองว่าครีเอเตอร์จะสามารถช่วยบอกต่อสินค้าอย่างสร้างสรรค์ และสร้างรายได้กับค่าคอมมิชชั่นจากผลงานที่ได้สร้างให้แบรนด์บนแพลตฟอร์มต่างๆ
.
ในมุมของผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะคนที่เล่นโซเชี่ยลมีเดีย ชอบซื้อของออนไลน์ ชอบแชร์บอกต่อสินค้าเป็นประจำก็คงมองเห็นเป็นช่องทางสร้างรายได้แบบ Passive Income อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากรายได้หลักประจำ ในรูปแบบของนายหน้าออนไลน์ ซึ่งในอดีตเราเรียก Affliate Marketing ว่า Social Commerce ที่เกิดจากการรวมกันระหว่าง Social Media และ E-Commerce
.
ปัจจุบันการทำตลาดแบบ Affliate Marketing ง่ายขึ้น เพราะทุกคนที่เล่นโทรศัพท์มือถือมีโซเชี่ยลมีเดีย ต่างมีผู้ติดตามเป็นของตัวเอง และระบบของแต่ละแพลตฟอร์มก็มีการวิเคราะห์จับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก รวมทั้งมีระบบหลังบ้านที่สามารถเก็บข้อมูลผู้ชม และการเข้าถึงโพสต์ที่เป็นระบบระเบียบ
.
อย่างไรก็ตามหากเราต้องการจะหารายได้จาก Affliate Marketing แบบจริงจังไม่ใช่แค่ตามกระแส ก็คงต้องยอมรับว่าคนที่มีสถานะโซเชี่ยลเป็นอินฟลูเอนเซอร์ดูจะได้เปรียบกว่ามือใหม่ แต่ก็ต้องมองว่าเราเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้านไหน เหมาะสมกับแบรนด์นั้นไหม ภาพลักษณ์ขัดแย้งสินค้าหรือไม่
.
จากนั้นให้เรามองช่องทางของแต่ละแพลตฟอร์มว่าจะสร้าง Traffic อย่างไร ศึกษาการแปะลิ้งค์ ศึกษาเวลาโพสต์ที่เหมาะสม การใช้แฮชแท็ก คีย์เวิร์ด หรือคอลแลบกับอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นๆ ยังไง แล้วพิจารณาว่าแพลตฟอร์มไหนเหมาะกับสินค้าตัวนั้น หรือการกำหนดโปรโมชั่นกระตุ้นความสนใจอย่างไร
สิ่งสำคัญคือการกำหนดกลยุทธ์หรือวิธีการโปรโมทสินค้า ผ่านการสร้างสรรค์คอนเทนต์มีให้ข้อมูลสินค้าเพียงพอและน่าสนใจ เช่น การเขียนรีวิว หรือการถ่ายวิดีโอรีวิว และแนบลิ้งค์ Affliate ที่ใช้โปรโมทลงไปด้วย เพื่อให้เกิดค่าคอมมิชชั่นกับเรา เมื่อลูกค้ามีการคลิกลิ้งค์เกิดขึ้น อย่างกรณีของ Sansiri Affliate Program ลูกค้าต้องคลิกลงทะเบียนผ่านลิ้งค์ มีการจองและทําสัญญาเท่านั้น จึงจะได้ค่าคอมมิชชั่น
.
อย่าลืมว่าการทำ Affliate Marketing ต้องแข่งขันกับ Publisher ที่ทำเหมือนเราอีกมากมายมหาศาล เราต้องมีความโดดเด่นจริงๆ ในการโปรโมท ไม่ว่าจะด้วยคุณภาพคอนเทนต์ วิธีการนำเสนอ ความน่าสนใจของเราในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ และปัจจัยอื่นๆ ที่ได้กล่าวข้างต้น มิฉะนั้นก็อาจจะเป็นการลงแรงที่เสียเวลาเปล่า หลงทิศทางและไม่เกิดรายได้ใดๆ กับตัวเราเช่นกัน
.
ใครที่ทำ Affliate Marketing หารายได้ หรือคนที่กำลังจะเริ่มทำ Affliate Marketing หาค่าคอมมิชชั่น ลองคอมเมนต์เล่าสู่กันฟังหน่อยครับ ว่าตัวไหนน่าลงมือทำสุดๆ เป็นแนวทางให้ชาวนินจาการตลาด