คอฟาสต์ฟู้ดคงเคยได้ลิ้มรสกันไปบ้างแล้ว สำหรับไก่ทอดหาดใหญ่ของ เบอร์เกอร์คิง เมนูที่ปล่อยมาให้สายไก่ทอดลองชิม โดยเขาอ้างว่าใส่หอมเจียวมากถึง 3 เท่า สะใจคนชอบหอมเจียวเข้มๆ กันไปเลย
ล่าสุดตอนนี้ล้ำไปไกลกว่าเดิม นั่นคือเมนูใหม่ เบอร์เกอร์หมูกระทะ ที่อ้างว่าพัฒนามาจากอินไซด์ของคนไทยที่ชอบกินหมูกระทะ ที่บอกตรงๆ ตอนได้ยินครั้งแรกก็เดารสชาติไม่ถูกว่าจะเป็นยังไง แต่ก็รู้สึกน่าสนใจที่จะหาโอกาสลองอยู่เหมือนกัน
.
ทางแบรนด์เผยว่า เบอร์เกอร์คิงหมูกระทะ คือการเอาเนื้อหมูไปย่างบนเตาไฟแบบซิกเนเจอร์ของร้าน หรือจะสั่งเป็นเนื้อวัวบดก็ได้ แล้วใส่ซอสสูตรพิเศษที่ได้ฟีลร้านหมูกระทะ โดยมีทั้งแบบธรรมดา, ดับเบิ้ล และแบบราดข้าว
ผลสำรวจเผยว่าผู้บริโภคมักทานหมูกระทะอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือน มี 26% บอกว่าถ้าถูกหวยจะไปทานหมูกระทะ และอีก 20% บอกว่าจะกินหมูกระทะหลังเลิกงานกับเพื่อน ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับเมนูนี้มานาน ดังนั้นเมนูนี้จึงแก้ Pain Point กับคนที่อยากทาน แต่รวมตัวนัดกันลำบาก ตัดปัญหากลิ่นติดเสื้อผ้า ผมเหม็นได้ด้วย
ที่จริงในอดีตเบอร์เกอร์คิงเคยนำเสนอเมนูไทยๆ แบบ Seasonal Menu มาพักใหญ่แล้ว อย่าง โจ๊ก, พายขนมครก รวมทั้งไก่ทอดหาดใหญ่ปลายปี 2566 ที่ล้วนมาจากการทำ Research จาก Social Listening ผ่านกลยุทธ์การทำกิจกรรมการตลาดดังต่อไปนี้
.
– เปิดตัวเสื้อสงกรานต์ลายดอกไก่ทอดหาดใหญ่
– ทำเต๊นท์การ์ดให้ร้านท้องถิ่นช่วงสงกรานต์
– เปิดตัวรถตุ๊กตุ๊ก กุ๊กกุ๊กไก่ทอดหาดใหญ่
– มอบส่วนลดเมนูไก่ทอดหาดใหญ่สำหรับผู้ที่โดยสารเครื่องบินช่วงวันหยุดยาว
.
ทั้งหมดนี้เราเรียกว่า Localized Marketing หรือการตลาดท้องถิ่น คือกลยุทธ์การตลาดที่ประยุกต์สินค้าบริการให้เข้ากับท้องถิ่นภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าแบรนด์กลมกลืนกับท้องถิ่น สร้างการจดจำและให้ความเป็นกันเอง
.
ความน่าสนใจของการทำตลาดเบอร์เกอร์คิง คือเลือกที่จะสร้างความแตกต่างให้เด่นชัดจากคู่แข่งอย่าง KFC, McDonald ด้วยการเพิ่มเมนูท้องถิ่นลงไป สร้างการรับรู้ใหม่ๆ จากที่ปกติกลุ่มลูกค้าจะมองว่าเบอร์เกอร์คิงมีแต่เมนูอาหารอินเตอร์แท้ๆ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ลูกค้าใหม่ๆ กล้าที่จะลองใช้บริการร้านมากขึ้น
เบอร์เกอร์คิงระบุว่า ผลในไตรมาส 1/67 แคมเปญนี้สร้างการรับรู้ได้ถึง 50% ทำให้เพิ่มฐานลูกค้าได้ 10% จำนวนสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 20% โดยหวังว่าจะพัฒนาทำ 1 แคมเปญทุกๆ 3 เดือน และตั้งเป้าสิ้นปี 2567 ต้องขยายฐานลูกค้าไทยได้ 25%
.
นั่นหมายความกลยุทธ์ที่แบรนด์ลงทุนลงแรงคิดมา สร้างอิมแพคกับส่วนแบ่งตลาดได้ไม่น้อย อันมาจากทำการตลาดที่สอดคล้องครบถ้วนมาก ทั้งการพัฒนาเมนูอาหารให้แตกต่างหลากหลาย การทำสื่อ Out of Home เรียกความสนใจ รวมถึงการสื่อสารสร้างไวรัลบนโซเชี่ยลที่โดดเด่นฮือฮาอยู่เสมอ
.
รวมทั้งการขยาย 123 สาขาให้เพียงพอกับพื้นที่ และบริการเดลิเวอรี่ที่มีครบทุกช่องทาง มีโปรโมชั่นส่วนลดให้ได้ใช้อยู่เรื่อยๆ เหล่านี้คือองค์ประกอบที่ทำให้เบอร์เกอร์คิงเติบโตได้มากกว่าในอดีตเมื่อ 20-30 ปีก่อน จากที่เคยหวิดจะเจ๊งมาแล้ว กลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงสู้กับคู่แข่งในไทยได้ถึงตอนนี้
นักการตลาดคงต้องจับตาดูต่อไป ว่าเบอร์เกอร์คิงจะปล่อยเมนูสเปเชี่ยลฟิวชั่นไทยๆ แบบใด มาสร้างความตื่นเต้นบนตลาดฟาสต์ฟู้ดอีกนับจากนี้ และจะนำพาพวกเขาแซงคู่แข่งแบรนด์เจ้าตลาดได้หรือไม่ อนาคตคงต้องดูกันไปยาวๆ ครับ
.
ใครอ่านจบแล้วหิวเบอร์เกอร์หมูกระทะ ลองหาโอกาสสั่งทานดูแล้วมารีวิวรสชาติด้วยนะ ส่วนเรื่องกลยุทธ์ ลองปรับใช้ความเป็นไทยให้เข้ากับธุรกิจ อาจได้การตลาดช่องทางใหม่ๆ ๆ กับแบรนด์ของเราได้เช่นกันครับ
.