เคยสังเกตตัวเองไหมครับ ว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนมันช่างไม่คงที่หรือแน่นอนเอาซะเลย บางครั้งก็เบื่อหน่ายกับข้าวเมนูโปรด ทั้งที่ปกติชอบทานมาก หรืออย่างความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อคนรัก ก็อาจผันแปรไปตามเวลาจนกลายเป็นความจืดจาง
ในแง่ของการตลาดก็เช่นกัน ยุคดิจิทัลออนไลน์ที่ข้อมูลข่าวสารมาไวไปเร็ว มีสื่อให้เสพหลายช่องทาง และมีคนที่สนใจเฉพาะกลุ่มแบบ Micro Segments ไม่แปลกที่พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้จะเอาแน่นอนไม่ได้ ชอบซื้อของตามอารมณ์ กล้าลองของใหม่ และไม่มีความภักดีต่อแบรนด์แบบคนยุคก่อน
.
และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมของคน Gen Z ที่คิดเป็นจำนวนมากกว่า 30% ของประชากรทั่วทั้งโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ดังนั้นการตลาด Mass Marketng แบบเก่าที่เน้นสร้างรับรู้หว่านยิงโฆษณากว้างๆ ดูจะใช้ไม่ได้ผลกับความขี้เบื่อของกลุ่มคนรุ่นใหม่อีกต่อไป
แล้วพฤติกรรมการซื้อของ GEN Z แตกต่างออกไปอย่างไรบ้าง?
.
80% มีการศึกษาผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนซื้อ
.
76% คิดว่าแบรนด์ความสนับสนุนความหลากหลาย
.
73% ยอมจ่ายเงินมากขึ้นกับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.
70% ต้องการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีจริยธรรม
.
68% คาดหวังว่าแบรนด์ต่างๆ จะช่วยเหลือสังคม
.
39% เชื่อใจในแบรนด์ที่ปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัว
.
37% ชอบซื้อของผ่อน ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง
.
27% เลือกซื้อของมือสองเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม
จากหลายข้อที่เอ่ยมา เราจะเห็นเลยว่าคนยุค Gen Z สนใจรายละเอียด ต้องการแบรนด์ที่มีความจริงใจ ตรงไปตรงมา มีอุดมการณ์น่าเชื่อถือ มีความรักษ์โลก เคารพความหลากหลาย แต่ไม่เอาเลยกับโฆษณาที่ขายเหมารวม ดังนั้นแบรนด์ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน Gen Z จึงจะเปิดใจยอมรับ
.
ทางสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำกลยุทธ์มัดใจคนขี้เบื่อที่เรียกว่า Turn Bore To Beat ไว้ค่อนข้างน่าสนใจ 4 ข้อดังนี้ครับ
1. Be specific – ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเจาะจงตรงจุด ต้องวิเคราะห์ให้แน่ชัดก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายอยู่ Gen ไหน ชอบใช้ Platform อะไร แล้วจึงสื่อสารออกไปให้ตรงจุด โดย Top 3 โซเชี่ยลมีเดียที่คนนิยมใช้เยอะสุด คือ TikTok YouTube และ IG
2. Extremely appealing – ผู้บริโภคยุคนี้มีทางเลือกเยอะ เพราะงั้นต้องสร้างเอกลักษณ์และมีจุดขายโดดเด่น แตกต่างให้จดจำได้ ตีคู่ไปกับการรีวิวที่จริงใจจะดึงดูดความสนใจของลูกค้ากลุ่มนี้ได้ หา Opinion Leader ของแต่ละ Gen มาพูดโน้มน้าว แต่ห้ามยัดเยียดขาย ให้พูดแบบเพื่อนที่แนะนำสิ่งดีๆ ให้กัน
3. Amazed emotion – สร้างอารมณ์ประสบการณ์ที่ว้าว น่าตื่นเต้นไม่จำเจ เน้นสร้างกิจกรรมให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมแบบ Personalize Marketing (การตลาดเฉพาะบุคคล) เช่นการ Challenge ให้ลูกค้าออกแบบลิปสติกสีเฉพาะของตัวเองที่มีแท่งเดียวในโลก
4. Too fun to stop – ไม่หยุดพัฒนา คอยออก Product ใหม่ๆ ให้น่าตื่นเต้นและตามเทรนด์อยู่เสมอ เช่น ทำ Collaboration กับแบรนด์อื่นๆ มีการสื่อสารต่อเนื่องเพื่อให้อยู่ในกระแส ทำ CRM (Customer Relationship Management) เพื่อเก็บข้อมูล สร้างปฎิสัมพันธ์กับลูกค้า และนำเสนอสินค้าที่แก้ Pain Point
สิ่งที่เราพอจะสรุปได้กับเทรนด์บริโภคของ Gen Z ที่เกิดขึ้นคือนักการตลาด รวมทั้งเจ้าของแบรนด์ต้องสร้างมาตรฐานที่สูงอยู่เสมอ เพราะต่อให้ปั้นสร้างภาพมาดีแค่ไหน แต่ก็สินค้าบริการไม่ดีจริง กลุ่มนี้ก็พร้อมจะแยกย้ายไปใช้แบรนด์อื่นแทนได้ทุกเมื่อ
.
กลับกันก็เป็นโอกาสดีให้ SME ได้ทำสินค้าที่คุณภาพใกล้เคียงแบรนด์ใหญ่ เพราะคนขี้เบื่อยุคใหม่ไม่ได้ยึดติดชื่อแบรนด์มากนัก ถ้าสินค้าบริการเราเจ๋งจริง มีจุดขายตรงใจ ราคาไม่แพง กลุ่มนี้ยินดีจะลองซื้อมาใช้ได้แบบไม่ลังเลเช่นกัน
.
ดังนั้นหากเราทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ของคนขี้เบื่อได้มากพอ แล้วสร้างสินค้าบริการที่มีคุณภาพจริง ตอบสนองความคาดหวังได้ก็จะสามารถเข้าไปในใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ และสร้างธุรกิจให้เติบโตได้ในระยะยาว
.
ใครอ่านจบแล้ว น่าจะเข้าใจอินไซต์ความเบื่อง่ายของคน Gen Z ได้มากขึ้นเลยทีเดียว คราวนี้คงได้รู้ว่าทำการตลาดกับคนกลุ่มนี้ไม่ได้ยาก จะเล็กแบบ SME หรือแบรนด์ใหญ่ไม่สำคัญ ขอแค่ขายความจริงใจก็เพียงพอครับ
.