ขึ้นชื่อว่าขนมจอลลี่แบร์ คงไม่มีใครไม่รู้จักเยลลี่หมีแบรนด์คนไทยแท้ๆ ที่อยู่คู่เมืองไทยมานานเกือบ 40 ปี ที่สร้างรายได้ระดับ 300 ล้าน แถมบริษัทโตต่อเนื่อง และมีกำไรติดต่อกันทุกปี แม้จะมีคู่แข่งแบรนด์ต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งอย่างหนักหน่วง
แรกเริ่มเดิมทีขนมจอลลี่แบร์ไม่ใช่เยลลี่ แต่เริ่มต้นจากการเป็นลูกอมแบบแข็ง (Hard Candy) โดยบริษัทผู้ผลิตอย่าง พงษ์จิตต์จำกัด แต่ด้วยความที่คู่แข่งในตลาดลูกอมเยอะมาก การจะชิงยอดขายจากเจ้าตลาดเป็นเรื่องยาก ดังนั้นทายาทรุ่น 2 เลยคิดว่าไปงอกทำเป็นเยลลี่หมีน่าจะดีกว่า
เด็กยุค 80-90 ต้องเคยได้ยินเพลงประกอบโฆษณา นุ่มๆ เหนียวๆ โอ้วว จอลลี่แบร์ ที่มักจะโผล่มากับช่วงพักเบรกรายการการ์ตูน ต้องยอมรับเลยว่าเป็นเพลงกระตุ้นความอยากซื้อของเด็กยุคนั้นอย่างร้ายแรง แล้วในราคา 5 บาทถือว่าเป็นขนมที่ได้เยอะพอสมควร
ปัจจุบันแบรนด์จอลลี่แบร์อยู่ในยุคของทายาทรุ่นที่ 3 เราสังเกตได้ว่าใน 10 ปีหลังว่ามีการผลิต Product ใหม่ๆ ออกมาในแนวทางที่แตกต่างจากคูแข่งต่างประเทศอย่างพวก Haribo, Trolli หรือ Yupi ที่เน้นสร้างรูปทรงใหม่ๆ ของเยลลี่กัมมี่ให้มีหน้าตาที่หลากหลาย ดึงดูดใจเด็กๆ
แต่จอลลี่แบร์ย้ำจุดขายที่รูปทรงตัวหมี และโดยเฉพาะรสชาติที่มี ส้ม องุ่น แอปเปิ้ล สตรอเบอร์รี่ สับปะรด ที่มีเอกลักษณ์และไม่เปลี่ยนไปนักจากในอดีต กลายเป็นจุดแข็งให้ทำเวอร์ชั่นแพ็คเกจแยกสี เอาสีไหนก็แล้วแต่ที่ลูกค้าที่ชอบ ยังไม่รวมถึงรุ่นที่เป็นหมีตัวใหญ่ หรือรสเปรี้ยว, รสแตงโม, รสมะม่วง ที่เพิ่มความแปลกใหม่
คือไม่ต้องลงงบโฆษณาออนไลน์อะไรเยอะแยะ แต่สร้างสินค้าที่แก้ Pain Point ที่เข้าเป้าโดนใจลูกค้ากลายเป็นตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าที่อยากกินหมีสีไหนเป็นพิเศษ ทำให้ภาพลักษณ์ของจอลลี่แบร์คือสินค้าขนมที่คุ้มค่า มีประโยชน์ และปลอดภัย
ก่อนหน้านี้แบรนด์เคยทำ Collaboration กับรองเท้า KITO กลายเป็นรองเท้าแตะลายหมี เมื่อปี 2021 ซึ่งผลตอบรับถือว่าได้รับความสนใจที่ดี มียอดพรีออเดอร์ที่เยอะพอสมควร เป็นการสร้างประสบการณ์ ไลฟ์สไตล์แปลกใหม่ให้กลุ่มเป้าหมาย เกิดเป็น Engagement จากคนรุ่นเก่าที่โตเป็นผู้ใหญ่ในตอนนี้
ปัจจุบันแบรนด์จอลลี่แบร์เน้นไปที่การสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงคน Gen Z ที่ไม่ได้รู้จักขนมเยลลี่หมีมากนัก อาจเพราะเกิดไม่ทันยุคนั้น และทำการตลาดช่องทางใหม่ๆ ผ่านโซเชี่ยลมีเดียแทบทุกแพลตฟอร์ม รวมทั้งใช้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้าสร้างกระแส เพื่อให้เกิดการบอกต่อ และนำไปสู่การซื้อสินค้า
แนวคิดที่น่าสนใจของ พลากร เชาวน์ประดิษฐ์ เจ้าของแบรนด์รุ่น 3 กล่าวไว้ว่า “การยืนอยู่ท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันสูง ธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง หาจุดแข็งของตัวเองให้เจอว่า เราแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ในตลาดอย่างไร”
“อยากให้ SME จำไว้ว่า เมื่อไหร่ที่หยุดสร้างแบรนด์ก็จะมีปัญหาเมื่อนั้น เพราะคู่แข่งพร้อมที่จะมาแซงเราอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นแบรนด์จึงเป็นหัวใจหลักที่เราต้องรักษาและทำให้ดี”
ถ้าจะอวยว่ามาถูกทางก็ต้องบอกว่าใช่ เพราะความเป็นแบรนด์เก่าแก่ ภาพลักษณ์ภาพจำคือเยลลี่รูปทรงตราหมี บางทีถ้าหลุดกรอบจากความเป็นหมี ก็อาจจะไม่ใช่สินค้าที่เข้ากันได้พอดีกับแบรนด์จอลลี่แบร์อีกต่อไปก็เป็นได้ แต่แบรนด์เลือกพัฒนาสินค้าจากจุดแข็งที่มี จนสร้างกำไรได้ปีละเกือบ 10-30 ล้านบาท
ดังนั้นจากกรณีความสำเร็จของแบรนด์จอลลี่แบร์ สินค้า Mass Scale ที่พอจะสะท้อนข้อคิดบอกชาว SMEs ได้ว่า ก่อนจะคิดมองหาช่องทางการตลาดต่างๆ ควรสร้างจุดแข็งของสินค้าบริการของแบรนด์เราให้เกิดขึ้นเสียก่อน
ทำให้เกิดการจดจำรับรู้และได้รับการยอมรับจากลูกค้า แล้วจึงค่อยใช้เทคนิคการตลาดมาต่อยอดสร้างยอดขายกำไร เพราะการนึกถึงแต่ความสำเร็จล่วงหน้า โดยไม่รู้ตัวว่า Product ของเรามีคุณภาพดีพอจะสู้คู่แข่งหรือยัง อาจกลายเป็นกับดักที่ทำให้แบรนด์เราล้มเหลวแต่หัววันในที่สุด
.
ใครอ่านจบเรื่องนี้ ลองเทียบดูว่าถ้าจอลลี่แบร์จุดขายคือหมี แล้วจุดขายธุรกิจแบรนด์เราคืออะไร นำจุดเด่นนี้มาสร้างเป็นจุดขาย เน้นย้ำนำเสนอในจุดแข็งที่เราเป็น แล้วการทำตลาดจะง่ายขึ้น จอลลี่แบร์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า SME ก็รวยได้