สิ้นสุดการรอคอยสักที สำหรับข่าวล่าสุดที่ทาง Google ตกลงยอมแพ้แล้ว ล้มเลิกแผนยุติการใช้งาน Third-Party Cookies บนเบราว์เซอร์ Chrome ไปเป็นที่เรียบร้อย หลังสร้างความปวดหัวให้คนที่ตามข่าวกันมานาน
ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลมีมูลค่า การรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นเรื่องใหญ่ Google ยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยี ก็ไม่ยอมพลาดที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
.
นับตั้งแต่ปี 2020 Google เคยประกาศแผนที่จะยุติการใช้ Third-Party Cookies บนเบราว์เซอร์ Chrome เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ แต่แผนนี้ก็ถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง และล่าสุดวันนี้ 23 กรกฎาคม 2567 ทาง Google ก็ออกมาประกาศยกเลิกแผนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Timeline ที่ Google เคยประกาศไว้
.
มกราคม 2020: Google ประกาศแผนที่จะยกเลิกการสนับสนุน Third-Party Cookies บนเบราว์เซอร์ Chrome ภายในสองปี
.
มิถุนายน 2021: Google ประกาศเลื่อนการยกเลิกการใช้ Third-Party Cookies ไปถึงปี 2023 เพื่อให้เวลาอุตสาหกรรมและผู้โฆษณามีเวลาปรับตัวมากขึ้น
.
กรกฎาคม 2022: Google ประกาศเลื่อนกำหนดการอีกครั้งไปเป็นครึ่งหลังของปี 2024 เพื่อให้มั่นใจว่าโซลูชั่น Privacy Sandbox มีความพร้อมเพียงพอ
.
เหตุผลที่ Google เคยประกาศว่าต้องการยุติการใช้ Third-Party Cookies บน Chrome เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ แต่การยกเลิก Cookies ทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการโฆษณาออนไลน์ที่พึ่งพา Cookies เหล่านี้ในการทำการตลาด
.
แล้วยิ่ง Chrome เป็นเบราว์เซอร์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ลองคิดดูครับว่าถ้าเราจะเอา Cookies ออกจากเบราว์เซอร์ที่มีผู้ใช้เยอะขนาดนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ใช่แล้ว มันจะส่งผลกระทบอย่างมากเลยทีเดียว
อธิบายความหมาย 1St Party Cookies กันก่อน
.
1St Party Cookies คือ คุกกี้ที่สร้างขึ้นโดยเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้เข้าชมโดยตรง เช่น เวลาเราเข้าเว็บไซต์ต่างๆ คุกกี้ที่ถูกสร้างขึ้นจะช่วยในการจดจำการกระทำผู้ใช้ เช่น เลือกภาษาที่ต้องการใช้, การเข้าสู่ระบบ, หรือการจัดการตะกร้าสินค้าในร้านค้าออนไลน์
.
มักถูกใช้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ เช่น การจัดเตรียมเนื้อหาที่เข้าชมบ่อย เพื่อให้เว็บไซต์ทำงานได้ดีขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้
แล้ว 3rd Party Cookies ล่ะ?
.
3rd Party Cookies คือ คุกกี้ที่สร้างขึ้นโดยเว็บไซต์หรือบริการอื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์หลัก ที่ผู้ใช้กำลังเข้าชม ซึ่งสามารถใช้เก็บข้อมูลการเยี่ยมชมของผู้ใช้จากหลายแหล่ง
มักถูกใช้ในการติดตามพฤติกรรมการเข้าชมเพื่อการตลาดออนไลน์ เช่น การแสดงโฆษณาที่ปรับให้เข้ากับความสนใจของผู้ใช้ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตลาดแบบกลุ่มเป้าหมาย
ดังนั้นแทนที่จะยกเลิก Third-Party Cookies ทั้งหมด Google เลือกที่จะให้ผู้ใช้ Chrome ตัดสินใจเองว่าจะอนุญาตให้เว็บไซต์เก็บ Cookies หรือไม่ โดยมีหน้าต่างแจ้งเตือนขึ้นมาก่อนเข้าเว็บไซต์ ให้ผู้ใช้ควบคุมข้อมูลของตนเองได้มากขึ้น
.
ล่าสุด Google ได้พัฒนาเทคโนโลยี Privacy Sandbox เพื่อหาทางออกในการรักษาสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้และประสิทธิภาพของการโฆษณา โดยจะเปิดให้ผู้ใช้ทดสอบฟีเจอร์ใหม่ๆ และให้เวลาแก่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ในการปรับตัว
.
เจ้าเทคโนโลยีนี้เหมือนกับการสร้าง “Sandbox” ให้ผู้ใช้งาน และผู้พัฒนามีพื้นที่ในการทดลองและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ โดยไม่ไปทำลายวงจรของการโฆษณาออนไลน์
.
หลายคนคงสงสัยแล้วทำไม Google ถึงเปลี่ยนใจไม่ยุติการใช้ Third-Party Cookie บางทีการตัดสินใจของ Google ครั้งนี้ อาจแสดงให้เห็นความพยายาม ในการหาตรงกลางของความเป็นส่วนตัวและประสิทธิภาพทางธุรกิจก็เป็นได้
.
เพราะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่างต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ก็ต้องการข้อมูลเพื่อทำการตลาดอย่างแม่นยำเช่นกัน
แล้วผลกระทบต่อการทำโฆษณามีอะไรบ้าง หากการยุติการใช้ Third-Party Cookie เกิดขึ้นจริง
1. การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล: การยุติการใช้ Third-Party Cookies จะทำให้การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ทำได้ยากขึ้นมาก นักการตลาดต้องพึ่งพาข้อมูลจาก First-Party Data มากขึ้น เช่น ข้อมูลที่เก็บจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นตัวเอง
.
2. การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย: ความแม่นยำในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายจะลดลง เนื่องจากการขาดข้อมูลจาก Third-Party Cookies นักการตลาดจะต้องพัฒนากลยุทธ์การตลาดแบบ Contextual มากขึ้น วิธีนี้ปรับปรุงประสิทธิภาพโฆษณาได้ แต่ไม่สามารถทดแทนความแม่นยำที่ได้จากการติดตามพฤติกรรมผู้ใช้ในระดับลึก
.
3. การวัดผลและการรายงาน: การติดตามและวัดผลการทำโฆษณา (Conversion Tracking) จะทำได้ยากขึ้นเมื่อไม่มี Third-Party Cookies นักการตลาดจะต้องใช้ Conversion Measurement API ของ Privacy Sandbox ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัวและเรียนรู้วิธีการใหม่ ในการวิเคราะห์ผลลัพธ์ของแคมเปญโฆษณา
.
4. ต้นทุนการโฆษณา: การปรับเปลี่ยนวิธีการทำโฆษณาและการพึ่งพาข้อมูลใหม่ ๆ อาจทำให้ต้นทุนการโฆษณาเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การใช้วิธีการใหม่ๆ อาจต้องใช้ความพยายามในการปรับปรุง และทดลองซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น
.
ที่สุดแล้วแม้ Google จะไม่ยกเลิก Third-Party Cookies ในทันที แต่ดูทรงคงมุ่งไปทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น ดังนั้นใครที่ทำการตลาดต้องคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงให้ดี และพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับความท้าทายในการทำการตลาด ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
.
ใครที่อ่านเรื่องนี้ ลองมาแชร์ความเห็นถกเถียงกันหน่อย ว่าเหตุผลที่แท้จริงของการที่ Google ประกาศไม่ยุติการใช้งาน Third-Party Cookies คืออะไรกันแน่ เหตุผลที่ยอมกลับลำในครั้งนี้ เป็นเพราะห่วงเงินรายได้โฆษณาใช่หรือไม่ ลองอภิปรายกันในคอมเมนต์ข้างล่างได้เลยครับ