อีกหนึ่งแรงจูงใจที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการของเรา ก็คือ “ราคา” แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายธุรกิจและหลายแบรนด์เลย ที่ยังสับสนมึนงงอยู่ว่า ควรจะตั้งราคาสินค้าหรือบริการอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด เพราะกลัวว่าจะตั้งราคาสูงหรือต่ำจนเกินไป ทำให้ขายไม่ออก
วันนี้ นินจาการตลาดจะมาแชร์เทคนิคการตั้งราคาให้ได้ใจลูกค้า และยังคว้ากำไรได้อยู่ มีแค่ 3 เทคนิคเบสิกเท่านั้น (ถ้าอยากรู้ก็กดอ่านต่อได้เลย)
อ่านต่อ
ก่อนที่จะไปเรียนรู้เทคนิคการตั้งราคา อยากให้ทุกคนหาคำตอบให้ตัวเองก่อนว่า ลูกค้าของเราคือใคร คู่แข่งของเรามีใครบ้าง และ Value ของแบรนด์หรือสินค้า/ บริการของเรา อยู่ในระดับไหน จะได้วางกลยุทธ์กันได้อย่างถูกทาง เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ไปเริ่มที่เทคนิคแรกกันได้เลย…
1. Cost-Plus Pricing
.
ข้อแรกนี้ ถือว่าเป็นเทคนิคที่คลาสสิกและเบสิกสุด ๆ วิธีการตั้งราคาก็คือ คำนวณต้นทุนออกมาก่อนว่าเราใช้ต้นทุนไปเท่าไหร่ จากนั้นก็บวกกับจำนวนกำไรที่เราต้องการเข้าไป ก็จะได้เป็นราคาขายนั่นเอง เช่น ต้นทุนของเราอยู่ที่ 100 บาท อยากได้กำไรสัก 20 บาท ราคาขายก็จะเท่ากับ 120 บาท
2. Competitor-Based Pricing
.
ข้อนี้อาจจะต้องใช้ความพยายามกันสักหน่อย คือเราจะต้องไปสืบมาว่า คู่แข่งหรือธุรกิจต่าง ๆ ที่อยู่ในตลาดเดียวกับเรา เขาขายกันราคาประมาณไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปลอกเขามานะ เราอาจจะปรับราคาขึ้นหรือลงจากราคาเหล่านั้นได้ โดยที่เราต้องเช็กตัวเองก่อนว่า Value ของสินค้าหรือแบรนด์ของเราอยู่ในระดับไหน และยังไงก็ยังต้องคำนวณต้นทุนด้วยอยู่ดี เพราะต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน เต็มที่ก็อาจจะตั้งราคาได้ใกล้เคียงกับตลาด แต่ไม่จำเป็นต้องราคาเดียวกันเป๊ะ ๆ ก็ได้ เพื่อให้เกิดความหลากหลายในตลาด และให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น
.
เช่น สมมุติว่าคุณทำธุรกิจขายน้ำผลไม้ขวด สูตรออร์แกนิก ไม่ใส่น้ำตาลและสารกันบูด โดยที่ราคาขายตามท้องตลาด อาจจะตกอยู่ที่ประมาณขวดละ 20-25 บาท แต่คุณอาจจะขายที่ขวดละ 30 บาทก็ได้ เพราะ Value ของสินค้าคุณมีความโดดเด่น โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลสุขภาพ เป็นต้น
3. Value-Based Pricing
.
ข้อนี้จัดว่าเป็นตัวโหดเลย เพราะว่าค่อนข้างยากนิดนึง แต่ถ้าทำได้เนี่ยบอกเลยว่าค่อนข้างได้เปรียบในตลาดอย่างมาก เป็นการตั้งราคาที่เอาตัวเองไปอยู่ในมุมลูกค้าว่า ลูกค้าจะยอมจ่ายหรือยินดีที่จะจ่าย เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการของเราในราคาเท่าไหร่ ยากใช่ไหมล่ะ ? ก็อย่างที่เราบอกกันตลอดว่า ถ้าเรารู้จักลูกค้าของเราเป็นอย่างดี อะไร ๆ ก็จะง่ายขึ้น และแน่นอนว่าเราควรจะรู้จักสินค้าหรือบริการของเราอย่างถ่องแท้ ว่าสินค้าหรือบริการของเราตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แค่ไหน อย่างไร เพื่อช่วยรีเช็กไปในตัวว่า ราคาที่เราตั้งเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า และคุณภาพของสินค้าของเราหรือเปล่า
.
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของลูกค้าด้วยว่า เขามองเราอยู่ในระดับไหน เช่น ถ้าเขามองเราเป็นแบรนด์ระดับกลาง ๆ แต่เราตั้งราคาสูงเกินที่เขาคิด ก็อาจจะขายได้ยาก แต่ถ้าเขามองว่าเราเป็นแบรนด์หรูสุดพรีเมียม แต่ราคาถูกเกินไป ก็อาจจะทำให้ลูกค้าลังเลได้ว่ามันดีจริงหรือเปล่า ทำไมมันถูกจัง ต้องหาความพอดีให้เจอครับ
แล้วควรเลือกใช้การตั้งราคาข้อไหนดีล่ะ ? บอกเลยว่าไม่มีคำตอบที่ตายตัวครับ เพราะแต่ละเทคนิคล้วนมีข้อดีข้อเสียของตัวเอง ถ้าเลือกใช้แค่ตัวใดตัวหนึ่ง คงจะไม่เป็นผลดีเท่าไหร่ แนะนำว่าให้ใช้ทุกเทคนิคมาผสมผสานกัน แล้วเปรียบเทียบหาราคากลางที่เหมาะสมที่สุด โดยให้ความสำคัญเรียงจากลูกค้าก่อน รองลงมาเป็นราคาตลาดและต้นทุน ซึ่งราคาที่ได้มานั้น จะต้องซัพพอร์ตทั้ง 3 สิ่งที่กล่าวมา เช่น ลูกค้ายอมจ่ายในราคานี้, เป็นราคาที่สามารถสู้กับการแข่งขันในตลาดได้อย่างเข้มข้น และที่สำคัญคือเราไม่ขาดทุน
สุดท้ายนี้ ก็ขอให้ทุกคนเจอราคาที่เหมาะสมที่สุด ทั้งต่อลูกค้า กำไร และการแข่งขันในตลาด รวมไปถึงเหมาะสมกับแบรนด์ สินค้า หรือบริการของตัวเองด้วย อย่าตั้งราคาที่สูงจนเกินไป ถ้า Value ของเรายังไม่แข็งแกร่งพอ และอย่าตั้งราคาต่ำจนเกินไป เพราะนอกจากเสี่ยงที่จะขาดทุนแล้ว ภาพลักษณ์ของแบรนด์ก็อาจจะดู Low ตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ราคาเป็นเพียงสิ่งดึงดูดเกือบจะอันดับต้น ๆ ในการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า หรือจะมองว่าเป็น First Impression ในบางทีก็ไม่ติดอะไร แต่ลูกค้าจะซื้อหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น คุณภาพของสินค้า, ประโยชน์ที่จะได้รับจากสินค้า ฯลฯ อย่าลืมเรื่องเหล่านี้เชียวล่ะ
.
Cover: Business vector created by pikisuperstar – www.freepik.com