ชื่อเรื่องดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะต่อให้เราจะเขียนเนื้อหาคอนเทนต์มาดีสักแค่ไหน แต่ชื่อเรื่องไม่น่าสนใจ ก็ไม่มีใครอยากกดอ่านหรอกนะ
โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่พฤติกรรมการใช้โซเชียลของผู้ใช้งาน มีการเลื่อนหน้าฟีดที่เร็วมาก ใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น ซึ่งเราต้องหาวิธีที่จะทำให้พวกเขาเหล่านั้น หยุดดูหรือหยุดอ่านคอนเทนต์ของเราให้ได้ แล้วต้องทำยังไงล่ะ ?
.
บอกเลยว่านอกจากรูปปกคอนเทนต์ที่ต้องสะดุดตาแล้ว ชื่อเรื่องก็ต้องสะกิดใจด้วย ซึ่งคิดว่าหลาย ๆ คนน่าจะประสบพบเจอปัญหานี้บ่อย ๆ ลองลงมาจากการหาคอนเทนต์มาเขียนเลย นั่นก็คือ จะตั้งชื่อเรื่องยังไงดี เอาจริง ๆ บางทีคิดชื่อเรื่องยังยากกว่าให้เขียนเนื้อหาทั้งเรื่องอีก เพราะมันจะต้องสั้น กระชับ ได้ใจความ และดึงดูดให้คนอยากกดอ่าน เหมือนสรุปเนื้อหาทุกอย่างมาไว้ในประโยคเดียว
.
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า เดี๋ยวนี้ลูกค้าเขาเลือกเยอะขึ้นในการเสพสื่อ การจะหยุดอ่านหรือหยุดดูอะไรสักอย่างเป็นไปได้ยากขึ้น คือต้องมีอะไรดึงดูดใจจริง ๆ ถึงจะมี engagement ด้วยไลฟ์สไตล์อันเร่งรีบ ทำให้มีเวลาจำกัดในการจะทำอะไร
.
ดังนั้นการตั้งชื่อเรื่องจึงสำคัญ ซึ่งจริง ๆ มันก็พอจะมีเทคนิคอยู่บ้าง และเราก็เห็นกันอยู่บ่อย ๆ แต่เราอาจจะยังไม่รู้ว่า อ๋อ นี่มันคือกลยุทธ์ในการตั้งชื่อเรื่องสินะ เอาล่ะ ลองไปดูกันว่าเคยเห็นการตั้งชื่อคอนเทนต์แบบไหนกันบ้าง…
อ่านต่อ
1. การใช้ตัวเลข
.
แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะต้องเคยเห็นการตั้งชื่อเรื่องโดยการใช้ตัวเลขเข้าช่วย ซึ่งการใช้ตัวเลขมีข้อดีอยู่นะครับ เพราะจะช่วยให้ผู้อ่านรู้ก่อนว่า เรื่องที่เราจะเขียนมีกี่ประเด็น กี่ข้อ เพื่อจะได้คำนวณเวลาดูว่า ต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการอ่านให้จบ และจะจบที่ตรงไหน
.
เช่น 7 ตัวอย่างการทำ Quiz Content ให้ได้ Customer Insights สุดเฉียบ
2. การตั้งคำถาม
.
บอกเลยว่าการตั้งชื่อเรื่องโดยการตั้งคำถาม สามารถกระตุ้นความสนใจจากคนอ่านได้ไม่น้อยเลย เพราะจะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าต้องกดอ่านเพื่อให้ได้คำตอบนั้น จากเนื้อหาในคอนเทนต์เรา ซึ่งวิธีการคิดว่าจะตั้งชื่อด้วยการตั้งคำถามยังไง ก็อาจจะนำหลัก 5W 1H มาใช้ก็ได้ คือ Who = ใคร, What = อะไร, Where = ที่ไหน, When = เมื่อไหร่, Why = ทำไม และ How = อย่างไร เห็นไหมครับว่าสามารถเลือกไปใช้ตั้งชื่อให้น่าสนใจได้เพียบเลย
.
เช่น Long-tailed Keywords คืออะไร ทำไมถึงสำคัญต่อการทำ SEO ?
3. การเฉลยคำตอบ
.
งงกันล่ะสิว่า ถ้าเราเฉลยไปก่อน แล้วคนจะอยากอ่านต่อเหรอ แต่มันก็ยังได้ผลในการที่คนเข้ามากดอ่านอยู่นะ เพราะเหมือนว่าเราได้บอกไกด์ไปนิดหน่อยแล้วว่า เราจะพูดเรื่องอะไร และเขาจะได้ข้อมูลและประโยชน์อะไรจากคอนเทนต์ของเรา ซึ่งถ้าเราจับจุด pain point มาเขียนเนี่ย ยังไงก็มีคนอ่านครับ
.
เช่น วิธีการย้าย LINE@ ไปเป็น LINE OA
4. การใช้คำเชิงลบ
.
คำเชิงลบในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคำที่รุนแรง หรือใช้คำหยาบคายนะครับ แต่เป็นคำที่รู้สึกกระแทกตากระแทกใจ หรือพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเชิงลบ จนทำให้ต้องหยุดอ่าน โดยคำที่นำมาใช้กันบ่อย ๆ ได้แก่ ไม่ ห้าม หยุด อย่า
.
เช่น อย่าเถียงกันเองเลยว่าคอนเทนต์ไหนที่จะดี ใช้ A/B Testing ถามลูกค้าเอาเหอะ
5. เรียกร้องความสนใจ
.
ถ้าตั้งชื่อยังไงก็ไม่ได้ engagement ตามที่ต้องการสักที ก็คงต้องใช้วิธีเรียกร้องความสนใจกันแล้วล่ะครับ แต่การเรียกร้องความสนใจของเรา ไม่ใช่ว่าต้องไปโหวกเหวกโวยวายให้ใครมาอ่าน เพียงแต่ใช้คำที่มีพลังเข้าช่วย เช่น เหตุผล, หลักการ, วิธีการ, แนวทาง, บทเรียน, เคล็ดลับ, เทคนิค, สูตร, ฟรี, ไม่น่าเชื่อ ฯลฯ
.
เช่น เทคนิคดูด engagements ด้วยการทำ content แนะนำสิ่งดี ๆ
การตั้งชื่อคอนเทนต์หรือบทความนั้น สำคัญมากจริง ๆ นะครับ เพราะต่อให้เนื้อหาจะดีแค่ไหน แต่ก็อาจจะตกม้าตายได้ ถ้าชื่อเรื่องไม่ดึงดูดให้คนกดอ่าน และที่สำคัญก็คือชื่อคอนเทนต์ไม่ควรยาวเกินไป เน้นความสั้น กระชับ ได้ใจความจะดีกว่า โดยจะต้องมีความเชื่อมโยงกับเรื่องที่เขียนด้วย ไม่ใช่ว่าชื่อเรื่องไปทาง เนื้อหาไปทาง ไม่ต่างอะไรจากพวก click bait เลย ไม่เป็นผลดีในระยะยาวแน่
อีกหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญก็คือ Keyword ควรใส่คีย์เวิร์ดไว้ในชื่อคอนเทนต์ด้วย คนอ่านจะได้รู้ว่าเราจะพูดเรื่องอะไร ส่วนถ้าถามว่าแล้วควรตั้งชื่อทางการแค่ไหน อันนี้ขึ้นอยู่กับคาแรคเตอร์ของแบรนด์เลยว่า ปกติใช้ระดับภาษาในการสื่อสารผ่านคอนเทนต์ยังไง ก็ใช้ตามนั้นแหละ แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำให้ใช้แบบกึ่งทางการจะดีกว่า จะได้ไม่ดูเคร่งขรึมจนเกินไป จนดูเข้าถึงยาก และไม่ดูเด็กจนเกินไป จนดูไม่น่าเชื่อถือ
.
Cover: Background vector created by rawpixel.com – www.freepik.com