เตรียมพร้อมหรือยังกับการเปิดร้านค้าออนไลน์ในแฟลตฟอร์มที่อาจจะไม่ได้ใหม่ แต่เพิ่มยอดขายสุดปัง แถมยังทำให้ธุรกิจของคุณเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
นาทีนี้ถ้าไม่พูดถึงแอป Clubhouse ก็คงจะกระไรอยู่ ในฐานะของแพลตฟอร์มที่ให้ความรู้ด้านการตลาด อย่างนินจาการตลาด คงต้องเอาเรื่องนี้มาพูดกันสักหน่อย แต่คงจะไม่ใช่การเล่าเรื่องของ Clubhouse ว่าแอปนี้ใช้งานยังไง หรือมันดีสำหรับเราไหม ผมว่าน่าจะมีหลายคนพูดถึงมากแล้วครับ
สิ่งที่จะมาพูดกันในวันนี้คือ การมาของแอปนี้ทำให้เกิดกระแสที่จะเรียกว่าไวรัลขนานใหญ่เลยก็ว่าได้ เพราะมีคนพูดถึงแอปนี้กันเยอะมาก ถึงจะไม่มากจนกระทบแฟลตฟอร์มโซเซียลมีเดียรุ่นพี่ อย่าง Facebook หรือ Twitter แต่ก็ทำให้แฟลตฟอร์มใหญ่ ๆ เหล่านั้น ก็หันมาจับตามอง จนถึงขั้นมีกระแสข่าวว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มฟีเจอร์ของตัวเองให้มีความคล้ายกันกับ Clubhouse ด้วย
อย่างที่รู้ครับ การเข้าไปใช้งานแอป Clubhouse เติบโตรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ขนาดว่ามีแต่คนที่ใช้ IOS เท่านั้นที่สามารถได้รับเชิญเข้าร่วมแอปได้ แอป Clubhouse ยังบูมขนาดนี้ ถ้าวันที่แอปเปิดตัวบน Android ขึ้นมา ผมว่ากระแสอาจจะแรงมากขึ้นอีก
เอาหล่ะ… เข้าเรื่องของวันนี้กันเลย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ในการเรียนรู้การเติบโตของแอป Clubhouse ผมเลยหยิบนำเอาทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า Technology Adoption มาลองวิเคราะห์เปรียบเทียบและอธิบายให้นักธุรกิจได้อ่านกัน เพราะหลักการนี้มีบริษัทที่มีสินค้าทั้งเทคโนโลยีและไม่ใช่เทคโนโลยี รวมถึงมีนักการตลาดเอาไปใช้วิเคราะห์การสื่อสารการตลาดกันอยู่มากมาย Apple ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
ว่าไปแล้ว Technology Adoption จะเรียกว่าเป็นหลักการตลาดเลยก็อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ผมเห็นว่าเป็นภาพ หรือหลักการที่อธิบายปรากฏการณ์เรื่องนี้ได้อย่างดี ก็เอาล่ะถือว่ามีหลักการบางอย่างเอามาจับเพื่อทำให้เราเข้าใจภาพใหญ่ของการขยับตัวของการสื่อสารการตลาดของแบรนด์ได้ ผมว่าถ้าเราเข้าใจมันและสามารถแกะมันมาใช้กับธุรกิจของเราได้ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะ Technology Adoptor เองก็ได้รับการยอมรับว่าใช้ได้ดี และมีธุรกิจขนาดย่อมหลายแห่งนำไปใช้ สร้างความสำเร็จมากมาย โดยที่เราเองไม่เคยมองเห็นภาพเดียวกับเค้า เห็นแต่ว่าเค้าทำสำเร็จ อยากทำตามก็ไม่รู้ต้องเริ่มยังไง
อะไรคือ Technology Adoption
วันนี้เราจะมาเห็นภาพนี้พร้อมกัน (สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จัก Technology Adoption จริง ๆ) โดยการเอามาเล่าเปรียบเทียบกับการฮิตติดกระแสของแอป Clubhouse ไปด้วยเลยครับ
จากภาพ ให้มองแกน x (แนวนอน) เป็นเวลานะครับ โดยฝั่งซ้ายสุดคือจุดเริ่มต้นของการสื่อสารครั้งแรก และด้านขวาคือจุดสิ้นสุดของการสื่อสาร
Innovators ผู้จุดไฟให้ติด
นั่นหมายความว่าในช่วงแรก จะมีกลุ่มคนเพียง 2.5% เท่านั้นที่กระโดดเข้ามามีส่วนร่วมกับสินค้าหรือบริการนั้น ๆ ซึ่งเราเรียกว่าผู้บุกเบิก (Innovators) ถ้ามองในมุมของแอป Clubhouse จะเห็นว่า เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2020 ในช่วงเดือนเมษายน และก็มีผู้คนเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเดือนธันวาคม 2020 มีผู้ลงทะเบียนใช้อยู่ 600,000 คน
ผู้ใช้กลุ่มแรก ๆ นี้แหล่ะที่เรียกว่า Innovators เป็นผู้บุกเบิกการใช้งานบริการ ใช้งานสินค้าหรือ ใช้งานแอปเป็นกลุ่มแรก แน่นอนว่ามูลค่าต่อชิ้นของสินค้าในช่วงเวลานี้จะสูงมาก หรือต้องแลกมาด้วยต้นทุนเวลาที่ต้องใช้กับมันที่สูงกว่าช่วงอื่น ๆ แต่ผู้คนกลุ่มนี้ยอมจ่ายมันครับ ไม่ว่าสินค้านั้นจะให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อเค้าหรือไม่ เอาเป็นว่ากลุ่มนี้กล้าเสี่ยงมากครับ
Early Adopters ผู้หยิบฟืนที่ติดไฟ ไปกระจายกองใหม่ต่อ
ต่อมาเรียกว่ากลุ่มผู้นำกระแส (Early Adopters) มันจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างของสังคม ชอบหาอะไรใหม่ ๆ มาแสดงหรือนำเสนอ มักติดตามดูและพร้อมทำตามทันทีหาก Innovators บอกว่ามีอะไรที่ดี คนกลุ่มนี้ไม่มีปัญหาเรื่องการจ่ายต้นทุนที่อาจจะได้รับมาไม่คุ้มกับที่เสีย เอาจริง ๆ เค้ามองว่ามันคุ้มเสมอ ขอแค่ได้ลองเถอะ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงจังก็ตาม ซึ่งคนกลุ่มนี้ มีมากถึง 13.5%
สำหรับในเคสของแอป Clubhouse นี้ อีกหนึ่งคนที่เป็น Early Adopters ตัวหลักเลยก็คือ อีรอนมักส์ เกิดจากการที่เขา เข้าไปใช้แอป Clubhouse ในห้อง Good Time Club เมื่อเดือนมกราคม 2021 นับเป็นอีกหนึ่งตัวจุดกระแส ที่ทำให้ Early Adobters ที่เป็นผู้นำและผู้กระจายความคิดใหม่ ๆ ทั่วโลกหันมาสนใจในแอปนี้อย่างจริงจังอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ซึ่งในมุมมองของผมอีรอนมักส์ก็ถือว่าเป็น Early Adopters ที่มีความเป็น Innovators สูงอยู่นะครับ จะมองว่าเค้าเป็น Innovators ก็ได้
เมื่อกองไฟกระแสถูกจุดด้วย Innovators แล้ว จะติดจะดับก็อยู่ที่ช่วงนี้แหละครับ เจ้าของสินค้าต้องคอยฟัง Innovators ตลอดเวลา เพราะมันคือข้อมูลจริง ความต้องการจริง แล้วคอยปรับปรุงสินค้าให้ไฟยังติดอยู่ ซึ่งหากติดดี Early Adopters ก็จะเข้ามาหยิบเอาท่อนไม้หรือฟืนที่ติดไฟกองนั้นออกไปกระจายสร้างกองไฟใหม่ ๆ กับกลุ่มผู้ที่ติดตามพวกเค้าอยู่ นั่นก็คือกลุ่มผู้อยู่ในกระแส (Early Majority)
ซึ่ง ณ ตอนนี้ สำหรับแอป Clubhouse ก็ถือว่าอยู่ในช่วงเวลาที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมานี่แหละครับ ช่วงที่ผู้คนเริ่มแห่กันเข้ามาในกองไฟที่กระจายออกไปตามแหล่งต่าง ๆ จากกลุ่ม Early Adopters ที่พวกเค้าติดตามกันอยู่
Early Majority แมลงเล่นไฟที่เลือกใช้ความสว่างต่อชีวิต
คนกลุ่ม Early Majority นี้ จะเฝ้าดูจนกว่าจะมีความมั่นใจจริง ๆ ถึงจะเข้ามาเล่นในกระแส ถ้าไม่มั่นใจก็จะไม่เข้ามาร่วมครับ ถ้าวางกลยุทธ์การสื่อสารการตลาดดี ๆ จะชนะหรือแพ้ก็ตัดสินกันอยู่ที่คนกลุ่มนี้เลยครับ ถ้าทำให้กลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วมและใช้สินค้ามาก ๆ ได้ ก็หมายถึงการกวาดได้แทบทั้งตลาดนั้นแล้วครับ เพราะคนกลุ่มนี้มีมากถึง 34% เลยทีเดียว
ถ้าทำได้ถึงตอนนี้ ช่วงนี้แหละที่ธุรกิจจะกอบโกยรายได้อย่างมหาศาล เป็นช่วงที่มีแนวโน้มทำกำไรมากที่สุด เพราะอย่างที่เห็น จำนวนของ Early Majority มีมากกว่ากลุ่ม Innovators รวมกันกับ Early Adopters เสียอีก นั่นจึงเป็นเหตุว่าธุรกิจส่วนใหญ่จึงมักเล็งเป้ามายังกลุ่ม Early Majority กันทันทีตั้งแต่เริ่มต้นสื่อสารการตลาด แต่ก็มักจะล้มเหลวหากทำเช่นนั้น เพราะความยั่งยืนมักมาจากความน่าเชื่อถือ ซึ่งความน่าเชื่อถือพูดเองด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นพูดให้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจต่อกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง นั่นก็หมายถึง กลุ่ม Innovators และ Early Adopters นั่นเอง
ดังนั้นถ้าอยากให้มีคนเข้ามาอยู่ในกระแสช่วง Early Majority มาก ๆ ต้องกระตุ้นไล่มาตามสเต็ปให้ถูกต้องแต่แรกนะครับ
Late Majority
กระแสที่ดีก็จะอยู่ในช่วงเวลานี้เลยครับ จนล่วงเลยมาถึงจุดที่เรียกว่ากลุ่มผู้ตามกระแส (Late Majority) เข้ามา ซึ่งอาจจะเป็นคนหัวเก่าสักหน่อย หรือไม่ได้มีความพร้อมด้านต้นทุนเท่ากลุ่มแรก ๆ แต่ก็ยังมีความอยากจะอยู่ในกระแส จึงเข้ามาทีหลังเมื่อมีความพร้อมมากพอ กลุ่มนี้มีมากไม่แพ้กลุ่ม Early Majority ครับ ตัวเลขพอ ๆ กัน อยู่ที่ 34%
ช่วง Late Majority นี้ เอาจริง ๆ ถ้าพูดถึงเรื่องของเคสแอป Clubhouse ครั้งนี้ มันยังไม่เกิดนะครับ ผมก็อยากให้พวกเราลองติดตามเรื่องนี้กันดู แล้วดูกระแสภาพรวม ดูคนรอบข้างที่มีพฤติกรรมตรงกับที่ผมเล่าให้ฟัง มีใครบ้างที่พูดถึงหรือมีส่วนร่วมกับแอปนี้ ซึ่งมันจะทำให้คุณเรียนรู้เรื่องนี้ได้อย่างเข้าใจถ่องแท้เลย ทีนี้แหละต่อไปจะทำสินค้าหรือบริการอะไรออกมา คุณจะเข้าใจถึงสเต็ปของการเดินทางของการสื่อสารแน่นอน
เอาหล่ะมาถึงกลุ่มผู้คนที่ยอมจำนน (Laggards) เป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ อาจเป็นผู้สูงวัย หรือผู้ที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องใหม่ ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ซึ่งมีส่วนน้อยครับราว ๆ 16%
ใคร ๆ ก็เป็น Innovators ได้
หากจะลองเอาหลักนี้ไปใช้ สิ่งแรกที่เราต้องทำก่อนเลยคือ หากลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มให้เจอ ต้องรู้ว่าเค้าเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีพฤติกรรมอะไร แล้วค่อยสื่อสารการตลาดกับกลุ่มต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งโดยปกติการสื่อสารแต่ละกลุ่มเราจะใช้ Key Massage ที่แตกต่างกัน
แล้วอย่ายึดติดว่าคนนี้เป็น Innovators ของสินค้าตัวนี้ จะต้องเป็น Innovators ของสินค้าทุก ๆ ตัวเสมอไป บางคนเป็น Early Majority ของสินค้าตัวนึง แต่อาจจะเป็น Innovators ของสินค้าอีกตัวนึงก็เป็นได้ครับ เพราะพฤติกรรมบุคคลที่อาจจมีความชอบ มีความต้องการ มีความจำเป็น หรือมีงานอดิเรกที่ต้องใช้สินค้านั้น ๆ มีความหลากหลายในคน ๆ เดียวกัน
ดูให้ออกว่าเราเป็นคนกลุ่มไหน
อย่างที่บอกครับ ผมเล่าเรื่องนี้โดยจับหลักการมาให้อ่านกัน เพราะอยากให้ทุก ๆ ท่านเรียนรู้เรื่องการสื่อสารการตลาดแบบมีทิศทาง ไม่อยากให้เรียนรู้ตามกระแสที่เค้าว่ากันมากจนเกินไป หาหลักจับยึดบ้าง จะช่วยทำให้เราทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและสำเร็จได้ง่ายกว่าการที่ทำไปเรื่อย ๆ มีอะไรใหม่เข้ามาก็โดดไปจับทั้งหมด ยกเว้นเสียว่าในเรื่องการทำธุรกิจ คุณเป็นคนแบบ Innovators หรือ Early Adoptors ที่พร้อมจ่ายต้นทุนได้เสมอ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรก็ไม่เดือดร้อน อันนี้ไม่ห้ามครับ ทำเลย แล้วได้ผลยังไงมาเล่ามาบอกเผื่อแผ่เพื่อน ๆ ด้วย
แต่ถ้าไม่ เพราะคุณเป็นคนแบบกลุ่มในกระแส หรือ Early Majority ผมว่าการจับหลักการ การทำความเข้าใจหลักการ จะทำให้ทุกเรื่องไปอยู่ในกระแสที่ถูกต้องเหมาะสมกับคุณครับ หรือเรียกได้ว่าการอยู่ถูกที่ถูกเวลาจะเป็นผลดีต่อธุรกิจคุณนั่นเอง
แอป Clubhouse เองก็เช่นกัน การเข้าไปในนั้น คุณเองก็ต้องใช้ต้นทุนเรื่องเวลามากพอสมควรในการเข้าไปทำความเรียนรู้ และรู้จักแอปนี้อย่างจริงจัง ถึงแม้จะเริ่มมีคนมาเล่าให้ฟังแล้วว่ามันดีหรือมันด้อยยังไง เพราะมันก็ยังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างที่คุณเข้าไปเป็น Early Adoptors หรือ Early Mijority นั่นเอง