นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จักน้องลิซ่า BLACKPINK หลังจากที่น้อง ลิซ่า ได้ออกมาปล่อยซิงเกิลเดี่ยวจนกลายเป็นปรากฎการณ์ยอดวิวพุ่งทะลุไม่หยุด
ก็ได้รับเชิญมาออกในรายการพูดคุย WOODY SHOW และเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เธอได้ออกมาให้สัมภาษณ์ และหลังจากนั้นร้านลูกชิ้นยืนกินที่บุรีรัมย์บ้านเกิดของน้องลิซ่า ก็มียอดขายเพิ่มสูงขึ้น บรรดาผู้คนก็แห่กันไปซื้อ
ซึ่งมันเกิดอะไรขึ้น? ทำไมร้านลูกชิ้นร้านนี้ถึงขายดีและกลายมาเป็นกระแสในโลกโซเชียลได้? ต้นเหตุที่มาที่ไปเป็นอย่างไร และถ้ามองในมุมการตลาด มันเข้าหลักการไหน เผื่อใครเอาไปใช้ประโยชน์ให้กับธุรกิจตัวเองได้ วันนี้นินจาการตลาดก็เลยจะ #สรุปให้ในโพสต์เดียว
1. ลิซ่านั้นได้ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่เธอไม่ได้กลับประเทศไทยเลย สิ่งแรกที่เธอคิดถึงก็คือคุณพ่อคุณแม่ คิดถึงอาหารที่พวกเขาทำให้กิน และบอกว่า สิ่งแรกเลยที่จะทำถ้ากลับไปถึงเมืองไทย คือกลับไปไหว้คุณตา และอีกหนึ่งสิ่งที่ลิซ่าอยากทำก็คือ ไปกิน #ลูกชิ้นยืนกิน ที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์ เพราะ ที่เกาหลีไม่มีเลย มันเด็ดตรงที่น้ำจิ้มบุรีรัมย์เจ้านั้นมันเด็ดมาก ๆ หาไม่ได้ ซึ่งสำหรับลิซ่า จะต้องเป็นเจ้าที่มีน้ำพริกเผาเท่านั้น
2. หลังจากที่ทุกคนได้ดูรายการที่ลิซ่าไปให้สัมภาษณ์ ในตอนนี้ ล่าสุดเลยที่ชานชลา หลังสถานีรถไฟบุรีรัมย์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสถานที่เปิดให้พ่อค้าแม่ค้าขาย “ลูกชิ้นยืนกิน” ที่มีอยู่กว่า 10 ร้าน ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ที่มีเอกลักษณ์การกินที่ไม่เหมือนใคร และมีเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทย หรือแห่งเดียวในโลก โดยลูกชิ้นทอดซึ่งเน้นเป็นลูกชิ้นหมูนั้น มีความนุ่มอร่อย ที่สำคัญ น้ำจิ้มเป็นสูตรเฉพาะทำจากน้ำมะขามเปียก พร้อมมีกลิ่นหอมของพริกทอด ทำให้รสชาติเป็นที่ถูกปากของลูกค้า
3. โดยพ่อค้าแม่ค้าขาย “ลูกชิ้นยืนกิน ต่างบอกว่า ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบขายไม่ดี ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ทำให้ลูกค้าลดลง และนักท่องเที่ยวไม่มาซื้อมายืนกินลูกชิ้นหน้ารถเข็นเลย ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายลูกชิ้นแต่ละร้านมียอดขายลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
4. แต่พอมีข่าวน้อง ลิซ่า BLACKPINK บอกว่า อยากกลับไปบ้านเกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไปกินลูกชิ้นยืนกินเท่านั้นแหละครับ ก็เริ่มมีผู้คนและแฟนคลับน้องลิซ่าออกมาพากันแห่ไปซื้อและยืนกินกันที่หน้ารถเข็นเลย บางคนก็สั่งผ่านแกร็บ ส่งผลให้ในพ่อค้าแม่ค้าที่ขายลูกชิ้นแต่ละร้านมียอดขายเพิ่มขึ้นมาบ้าง เหล่าคนขายลูกชิ้นยืนกินต่างก็ฝากขอบคุณ ลิซ่า รู้สึกเป็นปลื้ม ดีใจ ที่ไม่ลืมบ้านเกิด และทำให้คนทั่วโลกได้รู้ว่าลูกชื้นยืนกิน ยังมีอยู่ และเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของคนบุรีรัมย์
5. โดยเจ้าของร้านลูกชิ้นได้บอกว่า รู้สึกปลื้ม ดีใจ แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ เราได้ดูทีวีด้วย แล้วเราเห็นเขาพูดออกมาแบบนี้ เราเป็นแม่ค้าลูกชิ้น ในนามของแม่ค้าลูกชิ้น เรารู้สึกดีใจ ที่น้องได้ออกไปทั่วโลก ให้โลกได้รู้ว่าลูกชิ้นยืนกินยังมีอยู่ ยังเป็นเอกลักษณ์ และเราก็อยากเป็นเอกลักษณ์เหมือนเดิม “อยากขอบคุณน้องที่ยังไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเกิดของเราที่บุรีรัมย์ และ ชอบที่น้องพูดว่าอยากมายืนกินลูกชิ้นตรงหอนาฬิกา ขอบคุณน้องมากค่ะ”
6. หากมาดูตามหลักการตลาดแล้ว ถ้าจำการแยกสื่อออกเป็นสามประเภทในสไตล์นินจาการตลาดได้ การที่ลิซ่าออกมาพูดเรื่องนี้ ก็เปรียบดังว่าลิซ่าเป็นสื่อ #สายเมาท์ ให้กับร้านลูกชิ้นปิ้งยืนกินแบบไม่ได้ทันตั้งตัว ร้านค้าไม่ได้ออกแรง ไม่ได้ใช้เงินในการซื้อสื่อเลย แบบนี้ก็ถือว่าได้จังหวะ หรือจะพูดว่าโชคก็คงไม่น่าจะผิดไป ถึงทำให้ได้รับอานิสงส์ได้แรงขนาดนี้ แต่บอกก่อนนะว่า มีโชคอย่างเดียวไม่พอครับ อ่านให้ถึงตอนท้ายนะครับ จะรู้ว่าต้องมีอะไร
7. สื่อสายเมาท์เป็นหนึ่งใน สื่อของจักรวาลสื่อสามสาย ประกอบไปด้วย สื่อสายเปย์ สื่อสายสร้างและสื่อสายเมาท์ ที่แต่ละกลุ่มของประเภทสื่อทั้ง 3 นั้น จะมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน ถ้าตามภาษาสากล ก็คือ Paid/ Owned และ Earned Media ตามลำดับนั่นเอง ใครสนใจเรื่องนี้ ค้นคำว่า “จักรวาลสื่อสามสาย นินจาการตลาด” ใน Google ได้นะครับ มีเป็นคลิป อยู่หลายตัวเลยที่อธิบายเรื่องนี้ไว้
8. อีกมุมหนึ่งของหลักคอนเทนต์การตลาด ก็คือการได้ Celebrity มาช่วยโปรโมทให้ ก็จะทำให้เกิดยอดขายได้ทันทีอีกด้วย หากมองในมุมของ Content Matrix ที่คอนเทนต์แบบ Celebrity Endrosements ที่อยู่ในโซน Inspire ถูกใช้งาน เพราะมันอยู่ในฝั่งด้านกระตุ้นการซื้อ (Purchase) ในขั้นของ Customer Journey นั่นเอง แล้วพอยิ่งเป็น Celebrity ตัวยักษ์ใหญ่ด้วย ยิ่งส่งผลกระตุ้นแรงมาก สินค้าแมสในตลาดหลาย ๆ แบรนด์จึงมักนำเอาดาราที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในหนังโฆษณานั่นเองครับ ใครอยากทำความเข้าใจเรื่องนี้ ลองค้นคำว่า “Content Metrix” ใน Google นะครับ เพราะจริง ๆ แล้วมันยังมีอีกหลายตัวที่ต้องทำร่วมกัน จะได้เข้าใจโครงสร้างมันทั้งหมด
9. แต่อย่างไรก็ดีคุณภาพของสินค้าและการสร้างเรื่องราวหรือประสบการณ์ของสินค้าที่มีความพิเศษแตกต่างเอาไว้ เป็นจุดตั้งต้นที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีแบบนี้ได้ เพราะการพูดต่อจะไม่เกิดขึ้นได้เลยหากสินค้าหรือบริการของเรามันเหมือน ๆ กับชาวบ้านทั่วไป ประสบการณ์นั้น ๆ จะไม่สร้างการจดจำในระดับความรู้สึกที่สามารถกระตุ้นให้ผู้คนพูดถึงเราได้ชัดและจริงใจขนาดนี้
ยังมีเจ้าของธุรกิจที่ยังหาจุดแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์หรือสร้างให้จดจำประสบการณ์การใช้งานสินค้า/ บริการไม่ได้อีกมาก นินจาการตลาดมีเคสตัวอย่างหลาย ๆ เคสเลยนะครับที่เคยช่วยให้คำปรึกษาจนล้วงเข้าไปดึงเอาจุดเด่นที่ซ่อนเอาไว้ของธุรกิจนั้น ๆ ได้ แล้วทำเป็นเนื้อหาการสื่อสารการตลาดออกมา จนหลายธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการใช้หลักการ FAB ใครอยากทำความเข้าใจเรื่องนี้ ก็ค้นคำว่า “FAB นินจาการตลาด” ใน Google ได้เลยครับ
ใครมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร หรือไปเจอสินค้า/ บริการมา แล้วมันสร้างประสบการณ์ให้เราจดจำได้ดีจนอยากบอกต่อ ก็คอมเมนต์มาเล่าให้อ่านนะครับ