เกี่ยวกับบทเรียน
การสร้าง Facebook Page สำหรับธุรกิจในยุคนี้ ไม่ใช่เพียงแค่โพสต์อัปเดตข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ผู้คนรู้จักและรับรู้การมีอยู่ของธุรกิจเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องอื่น ๆ ด้วย
.
หากต้องการสร้าง Facebook Page ขึ้นมา เพื่อโพสต์อัปเดตข้อมูลข่าวสารภายในองค์กรอย่างเดียว เพื่อให้ผู้คนรับรู้ว่ามีธุรกิจนี้อยู่ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดอะไร แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอคอนเทนต์ที่แปลกใหม่และน่าสนใจเกี่ยวกับองค์กร หรือเกี่ยวข้องกับ Target ของเรา/ มีปฏิสัมพันธ์กับลูกเพจด้วยการตอบคอมเมนต์หรือตอบแชทอย่างรวดเร็ว/ เก็บข้อมูล Insight ของเพจ เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้านการตลาดต่อไป/ ทำโฆษณาผ่าน Facebook Ads เพื่อโปรโมทให้ธุรกิจของเราเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ แค่คน ๆ เดียวอาจจะทำไม่ไหว อาจจะต้องมีผู้ช่วยในการดูแลเพจของเรา
.
ทีนี้พอต้องมีแอดมินเพิ่มขึ้นหลายคน ก็ต้องมาดูกันด้วยว่าจะต้องให้สิทธิ์ของแอดมินแต่ละคนนั้นแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งระดับของ Facebook Admin มีอยู่หลายระดับ วันนี้นินจาการตลาดจึงมาขยายความให้อ่านกันว่า แอดมินแต่ละระดับนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อที่จะได้เลือกกันได้ถูกต้องนะจ๊ะ…
การที่จะต้องเลือกใครสักคนมาดูแลเพจของเราก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ยิ่งถ้าเพจของเรามีคนถูกใจหรือติดตามเยอะ ยิ่งต้องเลือกให้ดี เพราะอาจจะโดนแฮกหรือสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจของเราได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้แก้ได้โดยการตั้งค่า Page Roles ให้เหมาะสม ซึ่งแต่ละ Roles ก็มีหน้าที่และข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป แค่ต้องเลือกให้ถูกคนถูกตำแหน่ง เพียงเท่านี้เพจของคุณก็จะทำงานได้อย่างราบรื่นมากขึ้นกว่าเดิมเยอะเลยล่ะ มาดูกันดีกว่าว่ามีตำแหน่งอะไรบ้าง…
Admin (เจ้าของเพจตัวจริง)
.
Admin หรือในชื่อภาษาไทยว่า “ผู้ดูแล” ถือว่าเป็นผู้คุมบังเหียนทุกอย่าง หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเจ้าของเพจที่แท้จริง สามารถทำได้ทุกอย่างในเพจ เช่น ปรับเปลี่ยนข้อมูลเพจ, เพิ่ม/ ลด/ เปลี่ยนได้ตั้งแต่ระดับผู้ดูแลเพจที่มีอำนาจสูงเท่าเทียมกันไปจนถึงผู้ที่อยู่ในระดับต่ำสุดของการเป็นสมาชิกเพจ, สร้าง/ ลบโพสต์, ตอบคอมเมนต์, ตอบแชท, ซื้อ Ads, Live, ดูข้อมูล Insight ฯลฯ ซึ่งการที่ควบคุมทุกอย่างในเพจได้ขนาดนี้ ก็ไม่ควรจะมีจำนวนที่เยอะเกินไป อาจจะมีเพียงแค่ 1-3 คนหลัก ๆ ขององค์กรเท่านั้น เพื่อดูแลควบคุมภาพรวมของเพจ
.
แต่จำไว้ให้ดีเลยนะครับ การจะเชิญใครเข้ามาอยู่ในระดับนี้ ต้องคิดให้มากหน่อยนะ ควรเป็นผู้ใกล้ชิด เป็นเจ้าของร่วม หรือต้องเป็นผู้ที่เราไว้ใจได้มากจริง ๆ เพราะคนในระดับนี้ถือว่าเป็นผู้ถือสิทธิ์สูงสุดในบรรดาแอดมินทั้งหมด
.
โดยเฉพาะมือใหม่ที่ไม่ทราบเรื่องนี้ บางทีก็ไปทำการมอบสิทธิ์ให้เอเจนซี่หรือฟีแลนซ์ที่ตั้งใจจะจ้างมาแค่เป็นผู้โพสต์เนื้อหาเท่านั้น ให้เข้ามาอยู่ในระดับ “ผู้ดูแล” เลยทีเดียว
.
เอาตรง ๆ เค้าจะยึดเพจของเราเมื่อไหร่ก็ได้นะ เพราะเค้าจะมีสิทธิ์สูงที่สุดเหมือน ๆ กันกับเราในฐานะเจ้าของเพจเช่นกันครับ
Editor (รองหัวหน้าเพจ ผู้คุมคอนเทนต์)
.
Editor ในภาษาไทยเรียกว่า “ผู้แก้ไข” ถือว่าเป็นรองหัวหน้าของเพจล่ะกัน เพราะสามารถทำได้เกือบทุกอย่างคล้าย Admin แต่ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลสำคัญ ๆ ได้ เช่น บัตรเครดิต หรือการแต่งตั้ง Admin คนใหม่ เป็นต้น โดยเบื้องต้นหน้าที่ของตำแหน่งนี้ก็คือ จะเป็นคนดูแลเพจจำพวกคอนเทนต์ต่าง ๆ และเซตตารางเวลาในการโพสต์ รวมถึงคอยมอนิเตอร์ให้เพจดูมีชีวิตโดยการตอบคอมเมนต์หรือตอบแชทอย่างรวดเร็ว และสามารถดูแลการซื้อโฆษณาได้
Moderator (นักตอบแชทและคอมเมนต์)
.
Moderator หรือในภาษาไทยเรียกว่า “ผู้ควบคุม” ตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นมือซ้าย มือขวาของ Editor เลย เหมาะสำหรับธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ที่ต้องการคนตอบแชทและคอมเมนต์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและตลอดเวลา เพราะตำแหน่งนี้มีหน้าที่ตอบแชทและคอมเมนต์เป็นหลัก ไม่สามารถสร้างหรือลบโพสต์ได้
Advertiser (ผู้เชี่ยวชาญด้านการยิง Ads/ Boost Post)
.
Advertiser หรือเรียกในภาษาไทยว่า “ผู้ลงโฆษณา” ตำแหน่งนี้เกิดมาเพื่อซื้อ Ads และ Boost Post อย่างเดียว ไม่ต้องเหลียวแลเรื่องอื่น ๆ ให้ปวดหัวเลย และสามารถเข้าถึงข้อมูล Insight เพื่อนำไปทำรีพอร์ตได้ เหมาะสำหรับการตั้งให้ Agency ที่ต้องเข้าไปดูแลเรื่องการซื้อ Ads ให้กับเพจของเรานั่นเอง
.
ตำแหน่งนี้ถึงแม้จะยิงโฆษณาได้ แต่ก็ไม่สามารถโพสต์หน้าเพจได้นะครับ
Analyst (นักวิเคราะห์ข้อมูล)
.
Analyst เรียกเป็นภาษาไทยว่า “ผู้วิเคราะห์” ตำแหน่งนี้มีหน้าที่เพียงแค่มาคอยเก็บข้อมูล Insight ของเพจเพื่อนำไปวิเคราะห์เท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงหรือแก้ไขข้อมูลอื่น ๆ ได้ เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีการจ้าง Consultant จากภายนอกมา เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด
.
ตำแหน่งนี้ไม่สามารถที่จะสร้างโพสต์หรือทำการโฆษณาได้นะครับ เพราะเน้นเอามาใช้สำหรับการเก็บข้อมูลเท่านั้น จะไม่ให้ยุ่งกับเรื่องอื่น ๆ เลย
Job Manager (ผู้ดูแลด้านการรับสมัครงาน)
.
Job Manager เรียกเป็นไทยว่า “ผู้จัดการงาน” จะบอกว่าตำแหน่งนี้หลายคนต้องไม่ค่อยคุ้นเคยกันแน่ ๆ เลย แม้แต่นินจาการตลาดเอง ถ้าไม่ได้มาเขียนคอนเทนต์เรื่องนี้ ก็แทบจะไม่เคยผ่านหูผ่านตาในช่วงการทำงานแต่ละวันเท่าไหร่เลย
.
ตำแหน่งนี้เหมาะสำหรับ HR ของบริษัทเลยครับ เพราะสามารถโพสต์ประกาศรับสมัครงานผ่านหน้าเพจได้อย่างง่ายดายผ่าน “Manage Jobs” ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครงานผ่านโพสต์ของเราได้เลย โดยที่ HR สามารถดูข้อมูลผู้สมัครได้อย่างเป็นระบบภายใน Facebook อีกทั้งยังสามารถใส่สเตตัสให้ผู้สมัครแต่ละคนได้อีกด้วยว่าอยู่ในขั้นตอนไหนของการสมัครงานแล้ว
.
ตำแหน่งนี้สามารถที่จะสร้างโฆษณาและทำการยิงโฆษณาได้ครับ (เอาไว้หาคนเข้ามาทำงานไง)
Live Contributor (KOL หรือ Micro/ Macro Influencer)
.
เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องใช้ KOL หรือ Micro/ Macro Influencer ในการ Live ผ่านเพจของเรา โดยที่มีหน้าที่เข้ามา Live ได้อย่างเดียว ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลใด ๆ ได้เลย ซึ่งตำแหน่งนี้เหมือนว่าผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ตอนนี้เหมือนว่าจะไม่มีให้เลือกแล้ว แต่นินจาการตลาดหยิบยกมาเล่าให้รู้จักกันไว้ว่ามันเคยมีตำแหน่งนี้ด้วย เผื่อว่าวันนึงมันจะกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
Photo: https://www.facebook.com/help/