เมื่อไม่มีกี่วันที่ผ่าน ทาง เฟซบุ๊ก ประกาศ “ปิดการใช้งาน” ระบบจดจำใบหน้า (face recognition) ไป หรือตัวฟีเจอร์ที่มันใช้ AI ในการช่วยตรวจจับใบหน้าคนในรูปภาพ
หากพบ มันจะมีตัวเลือกให้ผู้ใช้สามารถเลือกแท็กชื่อคนได้ หรือแจ้งเตือนได้ว่ามีคนลงรูปภาพ ที่ปรากฏว่ามีใบหน้าเราติดมา
ซึ่งเราก็รู้กันดีว่า ฟีเจอร์นี้ก็ถูกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเป็นส่วนตัวอยู่ไม่น้อยเลย จนล่าสุดทาง Facebook ยอมถอย ประกาศนำเอาระบบดังกล่าวออกแล้ว พร้อมเตรียมลบ ‘เทมเพลต’ การจดจำใบหน้า หรือข้อมูลภาพใบหน้าของผู้ใช้กว่าพันล้านคนด้วย
.
เจอโรม พีเซนติ รองประธานฝ่ายปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของเฟซบุ๊ก เขียนไว้ในบล็อกโพสต์เมื่อวันอังคารที่ 2 พ.ย. ว่า
“หน่วยงานกำกับดูแลยังอยู่ระหว่างจัดทำกฎระเบียบที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีประเภทนี้ และด้วยความไม่แน่นอนดังกล่าว เราจึงเชื่อว่าการจำกัดการใช้งานระบบจดจำใบหน้าจึงเป็นมาตรการที่เหมาะสม”
.
ก่อนหน้านี้ ทางบริษัทไอบีเอ็มได้ประกาศหยุดจำหน่ายและเลิกพัฒนาระบบจดจำใบหน้าอย่างถาวรไปแล้ว ขณะที่ไมโครซอฟต์ และแอมะซอนก็ระงับการจำหน่ายเทคโนโลยีประเภทนี้แก่ตำรวจแบบไม่มีกำหนด
สำหรับ เฟซบุ๊ก ซึ่งเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta Platforms Inc เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็กำลังถูกหน่วยงานกำกับดูแล และนักการเมืองในสหรัฐฯ เพ่งเล็งเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้ รวมถึงปัญหาการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม
.
ทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า กว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่เข้าใช้งานเป็นประจำทุกวันเลือกที่จะเปิดโหมดจดจำใบหน้าไว้ และทางบริษัทเตรียมที่จะลบเทมเพลตจดจำใบหน้าในบัญชีผู้ใช้มากกว่า 1,000 ล้านราย โดยคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค. นี้
.
มาตรการนี้ยังมีผลครอบคลุมถึงระบบใส่ข้อมูลบรรยายภาพอัตโนมัติ (automatic alt text) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนที่มีปัญหาด้านการมองเห็นสามารถเข้าใจรูปภาพได้ โดยจะไม่มีการระบุชื่อของบุคคลในภาพอีกต่อไป แต่รายละเอียดส่วนอื่นๆ ยังคงทำงานเหมือนเดิม
เฟซบุ๊กย้ำว่าบริษัทไม่ได้ปิดโอกาสในการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าสำหรับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เนื่องจากเห็นว่ายังเป็น “เครื่องมือที่ทรงพลัง” สำหรับการใช้งานในบางวัตถุประสงค์ เช่น การตรวจสอบยืนยันตัวตน
.
เฟซบุ๊กเผชิญดราม่า หรือกระแสวิพากวิจารณ์มามาก หรือที่หนักสุดคือเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาแล้วหลายครั้งหลายครา โดยเมื่อปี 2019 คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ (FTC) ได้สั่งปรับเฟซบุ๊กเป็นเงินถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีละเมิดความเป็นส่วนตัว เกี่ยวกับกรณีที่ข้อมูลผู้ใช้ราว 87 ล้านบัญชีถูกนำไปขายให้กับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล เคมบริดจ์ แอนาลิติกา (Cambridge Analytica) ซึ่งในตอนนั้นก็มีการอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับระบบจดจำใบหน้าของเฟซบุ๊กด้วย
.
ล่าสุดในปีนี้ เฟซบุ๊กก็ต้องยอมจ่ายอีก 650 ล้านดอลลาร์เพื่อไกล่เกลี่ยคดีความที่มีกลุ่มผู้เสียหายยื่นฟ้องศาลในรัฐอิลลินอยส์ กรณีที่เฟซบุ๊กรวบรวมและเก็บข้อมูลชีวมิติ (biometric data) ของผู้ใช้โดยไม่ขออนุญาต
.
ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้จึงทำให้ Facebook ยอมปลดฟีเจอร์นี้ออกไปในที่สุด บอกเลยว่า ไม่ไหวอย่าฝืน