ใครที่เคยไปเที่ยวเกาหลีหรือเป็นสายซีรีย์ ก็คงจะคุ้นหูคุ้นตากันอยู่บ้างกับการเห็นรถ Food Truck จอดอยู่ตามแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
หรือเห็นเหล่าศิลปินหรือนักแสดง ถ่ายรูปกับรถขายอาหาร Food Truck ลง Instagram จากการที่มีบรรดาติ่งและแฟนคลับ หรือจะเป็นนักแสดงด้วยกันเองส่งไปซัปพอร์ตระหว่างการถ่ายทำ
ซึ่งในประเทศเกาหลีใต้ Food Truck นี่ถือเป็นธุรกิจยอดนิยมเลยนะครับ แถมคนไทยเองก็ยังส่ง Food Truck ไปซัปพอร์ตศิลปินที่ตัวเองชอบกันอยู่เรื่อย ๆ ถึงตัวไม่ได้ไป แต่ส่งใจและอาหารไปให้แทน แล้วเคยเอะใจไหมครับว่า Food Truck ในประเทศเกาหลีใต้มันบูมมาจากอะไร ? แล้วทำไมคนถึงนิยมส่งให้กัน ? งั้นวันนี้นินจาจะ #สรุปให้ในโพสต์เดียว
1. Food Truck ในประเทศเกาหลีใต้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า รถตู้ที่ดัดแปลงมาเป็นรถขายอาหาร นั่นแหละครับ พึ่งจะมาได้รับความนิยมเอาเมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี่เองครับ ซึ่งบางประเทศเองก็มีมานานกว่า 40 ปีแล้ว ซึ่งจุดเริ่มต้นของ Food Truck ในประเทศเกาหลีใต้ ก็มาจากความสำเร็จของ คุณรอย ชเว เชฟชาวเกาหลีใต้ในสหรัฐอเมริกา
2. แต่ถึงแม้ว่า Food Truck จะเริ่มมีกระแสในเกาหลีใต้บ้างแล้ว แต่เจ้าของกิจการหลาย ๆ คนก็ยังประสบปัญหาในการทำธุรกิจนี้อยู่ เนื่องจาก ไม่มีพื้นที่ให้ขายเป็นหลักแหล่ง เพราะถึงแม้ว่าจะเจอทำเลที่ดีมาก แต่สุดท้ายยังไงก็ต้องเปลี่ยนที่ขายไปเรื่อย ๆ อยู่ดี ซึ่งตรงนี้เองทำให้ธุรกิจ Food Truck ในช่วงแรกมีแต่ขาจร แต่ไม่มีลูกค้าประจำ
3. จนมาถึงปี 2014 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในจุดนี้ จึงได้มีการออกกฎให้ธุรกิจ Food Truck เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลดการผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติการจัดการรถยนต์ และพระราชบัญญัติสุขาภิบาลอาหาร
4. แต่ในช่วงแรกพื้นที่ที่รัฐบาลเกาหลีใต้อนุญาติให้ Food Truck จอดขายได้กลับไปซอกซอยตามหลืบต่าง ๆ แทนที่จะอยู่ในบริเวณที่คนพลุกพล่าน เพราะทางรัฐบาลเกาหลีใต้กลัวว่าจะเกิดปัญหาการขัดแย้งกับร้านค้าเดิมในท้องถิ่น เมื่อเรื่องมันเป็นแบบนี้ ต่อให้ Food Truck จะเป็นรถขายอาหารที่ติดล้อ ที่สามารถไปไหนก็ได้ แต่การที่มาจำกัดให้ขายอยู่แต่ในซอกหลืบ ก็ยากที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จ
5. แต่ในปี 2016 รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้เข้ามาแก้ปัญหานี้อีกครั้ง โดยจัดโซนให้ Food Truck โดยเฉพาะ รวมถึงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ Food Truck เหล่านั้นสามารถเคลื่อนย้ายไปมาในโซนดังกล่าวได้ หลังจากที่มีการแก้ปัญหาไปไม่นาน ธุรกิจ Food Truck ก็เริ่มโด่งดังมากขึ้นเรื่อย ๆ และผู้คนก็เริ่มหันมาให้ความสนใจกันอย่างแพร่หลาย
6. อย่างการที่เชฟชื่อดังอย่าง คุณแบค จง วอน มีรายการเรียลิตีโชว์ทางโทรทัศน์ที่ชื่อว่า Baek’s Food Truck TV Show ที่สอนถึงวิธีพัฒนาแนวคิดด้านอาหารและกลยุทธ์ทางธุรกิจ Food Truck ซึ่งรายการนี้ก็ออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ของวันศุกร์ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
7. จนในปัจจุบัน ธุรกิจ Food Truck ได้กลายมาเป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยม ประจำประเทศเกาหลีใต้ไปแล้ว เนื่องจากการใช้เงินลงทุนที่ไม่สูงเทียบเท่ากับการไปเปิดร้านอาหาร และยังสามารถเคลื่อนย้ายไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านได้ง่ายอีกด้วย โดยเฉพาะในกรุงโซล ที่มีจำนวน Food Truck ประมาณ 424,000 คัน หรือคิดเป็นประมาณ 32% ของ Food Truck ทั่วประเทศ
8. แต่ตัวธุรกิจ Food Truck นี้ ก็มีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย เนื่องจากการขาดพื้นที่ในการจอดรถขายอาหาร จำนวนคนพลุกพล่านยังไม่มากพอ นอกจากนี้ยังมีการคัดค้านจากธุรกิจท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ที่เดิมมาก่อนอีกด้วย และอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญก็คือ Food Truck เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะขายได้เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น ยกเว้นบริเวณที่มีชื่อเสียงของประเทศ อย่างแม่น้ำฮัน ที่สามารถขายได้ตลอดเวลา
9. อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเร่งเข้ามาแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ด้วยการออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจ Food Truck เพราะรัฐบาลมองว่าใน Food Truck 1 คัน จะต้องมีพนักงาน 3-5 คน และในส่วนนี้เองที่จะเป็นการช่วยกระตุ้นการจ้างงานได้อีกทางหนึ่ง
10. ซึ่งการสนับสนุน Food Truck ก็ไม่ได้มีแค่ในเมืองหลวงอย่างกรุงโซลเท่านั้น ในพื้นที่ต่างจังหวัดเอง ก็มีการส่งเสริมธุรกิจ Food Truck เช่นเดียวกัน เช่น สภาจังหวัดคยองกี ก็ได้มีการยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขยายจำนวนสถานที่ ที่อนุญาตให้จอด Food Truck ได้ แต่ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นอกจากธุรกิจ Food Truck จะเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างได้รับความนิยมแล้ว ยังเป็นวัฒนธรรมในวงการบันเทิงที่ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
11. โดยจะเป็นการส่ง Food Truck ไปซัปพอร์ต เหล่าศิลปินระหว่างการถ่ายทำรายการต่าง ๆ ซึ่งวัฒนธรรมการส่ง Food Truck ก็เริ่มต้นมาจากการสังเกตเห็นว่า ปกติสถานที่ในการถ่ายทำ มักจะอยู่ค่อนข้างไกลและใช้เวลาในการถ่ายทำนาน การที่ทีมงานและนักแสดง จะต้องออกไปหาร้านอาหารจึงค่อนข้างเสียเวลา ดังนั้นก็คงจะง่ายสำหรับทุกฝ่าย ถ้าสามารถนำ Food Truck เข้ามาจอดภายในสถานที่ถ่ายทำได้เลย
12. สำหรับการส่ง Food Truck ก็ยังเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่บรรดาแฟนคลับและศิลปินร่วมวงการ ใช้ในการแสดงออกถึงความรัก การให้กำลังใจ และการสนับสนุนอีกด้วย ในขณะที่ตัวศิลปินเอง ก็จะถ่ายรูปกับ Food Truck ที่ได้รับและโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเป็นการตอบแทน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะยิ่งอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยิ่งทำให้มีแฟนคลับจากต่างประเทศมากขึ้นตามไปด้วย
13. ดังนั้นในปัจจุบันการส่ง Food Truck จึงไม่ได้มาจากแฟนคลับภายในประเทศเท่านั้นนะครับ เพราะยังมีแฟนคลับจากต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าเขาเลยที่เดียว บรรดาแฟนคลับจากต่างประเทศก็จะช่วยกันรวบรวมเงินเพื่อสนับสนุน Food Truck ส่งไปให้ศิลปินที่ตนเองรัก เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายมาก ๆ จนถึงกับมีเอเจนซีมากมายที่เปิดบริการ Food Truck สำหรับแฟนคลับที่ต้องการจะส่งความรักและกำลังใจให้กับศิลปินโดยเฉพาะ
14. เรียกได้ว่าการส่ง Food Truck เพื่อสนับสนุนศิลปิน ก็กลายเป็นอีกหนึ่งในโอกาสทางธุรกิจ ของประเทศเกาหลีใต้ที่ใช้ในการดึงดูดเม็ดเงินจากแฟนคลับต่างชาติ ให้เข้ามาสู่ในประเทศได้อีกด้วย โดยจากรายงานของ Online Forums พบว่า การส่ง Food Truck 1 คัน มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับจำนวนอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าเสริมอื่น ๆ
ทุกคนคงเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า Food Truck ในเกาหลีใต้ ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะสามารถขายได้ตามแหล่งชุมชนทั่วไปแล้ว ยังมีโอกาสเติบโตจากอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย มันก็น่าคิดนะครับว่า หากประเทศไทย ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทางด้าน Street food เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องบ้าง ในอนาคตเราก็อาจจะเห็นรูปรถเข็นขายผลไม้ ก๋วยเตี๋ยว หรือ รถลูกชิ้นทอด คู่กับเหล่าศิลปินดาราที่ได้รับ การซัปพอร์ตมาจากแฟนคลับบ้าง หรือเราก็อาจจะเป็นหนึ่งในคนที่คอยส่ง Food Truck ไปซัปพอร์ตดาราที่เราชอบอยู่เป็นประจำ ซึ่งนี้ก็อาจจะเป็นช่องทางการหารายได้รูปแบบใหม่ ช่วยลดจำนวนคนว่างงานให้น้อยลง และอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไทยนั้นดีขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย