มีใครในทีนี้ ไม่รู้จัก กูลิโกะ บ้างครับ? (คลิป)
.
ขนมระดับตำนาน ที่เกิดมาครั้งนึงต้องเคยลอง


ขอบคุณภาพจาก https://www.glico.com/th/about/history/
สารพัดขนมมากมาย ที่เติบโตมาพร้อมกับเราในวัยเด็ก จนถึงในตอนนี้ เราเริ่มจะแก่ละ มันก็ยังอยู่ตรงนี้ไม่หายไปไหน
.
อย่าง ขนมกรอบแบบแท่ง เพรทซ์ (Pretz),โคลลอน (Collon), แอลมอนด์ ฟรายด์ (Almond Fried), และขนมเวเฟอร์โคนกรุบกรอบ ใจแอนท์ คาปุลิโกะ (Giant Caplico)
.
ซึ่งขนมเหล่านี้ ล้วนอยู่ภายใต้บริษัท กูลิโกะ หรือ Ezaki Glico ทั้งสิ้น โดย Ezaki Glico มีมูลค่าบริษัทกว่า 82,000 ล้านบาท และดำเนินธุรกิจใน 30 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทั้งอเมริกาเหนือ, เอเชียแปซิฟิก และยุโรป


ขอบคุณภาพจาก https://www.glico.com/th/about/history/
แต่กว่าจะกลายมาเป็นบริษัทขนมยักษ์ใหญ่ขนาดนี้ รู้ไหมว่า อาณาจักรขนมของ กูลิโกะ
ได้รับแรงบันดาลใจ และมีจุดเริ่มต้นมาจาก “น้ำซุปที่ต้มหอยนางรม” !!
.
แล้ว หอยนางรม กับ ขนมกูลิโกะ มันเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ?
.
เรื่องนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1919 ที่ในตอนนั้น คุณริอิจิ เอซากิ (Riichi Ezaki) ได้อ่านหนังสือพิมพ์ แล้วไปเจอข่าวว่า Glycogen ที่สะสมอยู่ในหอยนางรม มีสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย
.
เขาจึงลองไปซื้อหอยนางรมจากชาวประมง แล้วนำไปต้มน้ำ เพื่อสกัด Glycogen ออกมา คงอยากเอามาลองทานดู ประจวบเหมาะกับเวลานั้น ลูกชายของเขากำลังป่วยอยู่พอดี คุณริอิจิ เลยถือโอกาสเอาน้ำซุปที่ต้มหอยนางรม ซึ่งอุดมไปด้วย Glycogen ให้ลูกชายดื่ม
.
ปรากฏว่า…ลูกชายของเขาหายป่วยจริง!


ขอบคุณภาพจาก https://www.glico.com/th/about/history/
คุณริอิจิ จึงเกิดไอเดียสุดสร้างสรรค์ขึ้นมา นั่นคือการนำ Glycogen มาเป็นส่วนผสมในการทำขนมขาย เพื่อให้เด็กญี่ปุ่น ได้มีโอกาสกินเหมือนลูกชายของเขาบ้าง
.
หลังจากนั้น เขาก็ได้เริ่มทำ เริ่มคิดค้นและสร้างขนมเสริมสุขภาพขึ้นมา และในที่สุด ขนมตัวแรกของเขาก็ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1921 ในชื่อว่า “Glico Caramel” ขนมคาราเมลรูปหัวใจ ที่มีแพ็กเกจจิงสีแดง เป็นรูปนักวิ่งกำลังยกมือสองข้างวิ่งเข้าเส้นชัย
.
แล้วก็เริ่มไปทดลองวางขาย ก่อนจะเริ่มวางขายอย่างเป็นทางการในปีต่อมา โดยวางขายในห้างสรรพสินค้ามิตสึโคชิ ซึ่งเป็นห้างเก่าแก่ในโอซากะ พร้อมกับจัดตั้งเป็นบริษัท Ezaki Glico ขึ้น
.
ซึ่งชื่อ Ezaki Glico มาจากนามสกุลของคุณริอิจิ คือ เอซากิ (Ezaki)
บวกกับ Glico ที่ย่อมาจากคำว่า ไกลโคเจน (Glycogen) นั่นเอง
.
ช่วงแรก ๆ Glico Caramel ค่อนข้างจะเป็นสินค้าที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน จึงทำให้หลาย ๆ คนในตอนนั้นไม่กล้าซื้อกิน
แต่…บริษัทก็ไม่ยอมแพ้ครับ พยายามขยายช่องทางการตลาด และปรับปรุงรสชาติอยู่ตลอดเวลา
ทำให้ในที่สุด กูลิโกะ ก็สามารถเอาชนะใจผู้บริโภคจนได้
.
หลังจากนั้น กูลิโกะ ก็ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งสร้างโรงงานใหม่ ทั้งขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ


ขอบคุณภาพจาก https://www.glico.com/th/about/history/
โดยในปี ค.ศ. 1932 เป็นปีแรกเลย ที่บุกตลาดต่างประเทศ โดยกูลิโกะ ได้ไปสร้างโรงงานในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน และก็เริ่มบุกตีตลาดจีนแผ่นดินใหญ่
.
ธุรกิจกำลังไปได้สวย…แต่! ก็ต้องมาพังลง เพราะ สงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานของกูลิโกะหลายแห่ง ทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็พังทลายลง เพราะโดนระเบิดจากการโจมตีทางอากาศ
.
เหตุการณ์สุดเศร้าในครั้งนี้ คงจะจำฝังใจไปอีกนาน แต่…แม้จะต้องสูญเสียโรงงานและทรัพย์สินไป แต่คุณริอิจิเชื่อว่า ตัวเขาเองยังคงมีทรัพย์สินที่ยังไม่มอดไหม้ไปในช่วงสงคราม และไฟที่ไหนก็ทำลายไม่ได้ด้วย นั่นก็คือ ชื่อของ กูลิโกะ นั่นเอง
.
หลังจากที่สงครามสิ้นสุดลง เขาจึงได้เริ่มต้นสร้างโรงงานขึ้นมาใหม่อีกครั้ง พร้อมกับขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ ช็อกโกแลต, เพรทซ์, ไจแอนท์ โคน และป๊อกกี้ ตามลำดับ
.
ทำให้ธุรกิจของ กูลิโกะ ค่อย ๆ ฟื้นตัว และเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม ปัจจุบัน กูลิโกะ มีสำนักงานตั้งอยู่ 18 แห่ง ใน 12 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และฝรั่งเศส
.
และนอกจากผลิตภัณฑ์ประเภทขนมแล้ว บริษัทยังขยายธุรกิจไปยังผลิตภัณฑ์ไอศกรีม, เครื่องดื่มนม/โยเกิร์ต, ขนมตะวันตก, นมผง, อาหารแปรรูป, ธุรกิจเสริมสุขภาพ, ธุรกิจร้านค้าสำนักงาน, ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจวัตถุดิบอาหารอีกด้วย
.
ในส่วนของประเทศไทยเอง กูลิโกะ ได้เข้ามาจัดตั้งบริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970
โดย กูลิโกะ มีโรงงานในประเทศไทยด้วยกันอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานบางกะดี ที่สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมธานี และโรงงานรังสิต ที่ ต.คลองหนึ่ง จ.ปทุมธานี
.
สรุปแล้ว กูลิโกะ บริษัทขนมในตำนานนี้ เกิดมาจากความช่างสังเกต และความอยากรู้อยากเห็น ของคุณริอิจิ เอซากิล้วน ๆ ที่สนใจว่า Glycogen ที่สะสมอยู่ในหอยนางรม มีประโยชน์จริงหรือไม่?
.
และพอได้รู้ถึงผลลัพธ์แล้ว เขาก็รีบคว้าโอกาสทางธุรกิจทันที ด้วยการนำความรู้สึก ที่อยากจะส่งต่อและแบ่งปันคุณค่า หรือประโยชน์นั้น ๆ ให้กับผู้อื่น เป็นแรงขับเคลื่อนในการทำธุรกิจ
.
สังเกตไหมครับว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจใหญ่ ๆ ในหลาย ๆ แบรนด์นั้นมันจะทำให้เราประหลาดใจอยู่เสมอ
ถึงที่มาที่ไปของมัน แล้วใครมันจะไปคิดว่า จากน้ำซุปต้มหอยนางรมในวันนั้น จะกลายมาเป็น ขนมชื่อดังอย่างกูลิโกะในวันนี้

กูลิโกะ ขนมที่เกิดมาจาก น้ำซุปหอยนางรม!
อ่านกันมาเยอะแล้ว ใครที่อยากดูคลิปเราก็มีให้ แล้วอย่าลืม กด Like กด Share กด Subscibe เป็นกำลังให้เหล่านินจาการตลาดด้วยนะครับ

สามารถติดตามเนื้อหาสุด Exclusive ของนินจาการตลาดที่ไม่ได้ลงที่ไหนและคอร์สเรียนฟรี ให้พิเศษเฉพาะใน Facebook กลุ่มปิด “Digital Media Planning” คลิกไปขอเข้าร่วมได้เลย มีอัปเดตเนื้อหาอยู่ตลอด

และหากมีคำถามอยากให้ช่วยเหลือด้านการสื่อสารการตลาดดิจิทัล ทั้งเรื่องเครื่องมือ (Media), เนื้อหา (Content) และ กลยุทธ์ (Strategy) สามารถเข้าไปทักสอบถาม อ.ออดี้ และผู้รู้มากมายใน “หมู่บ้านนินจา” LINE OpenChat
ติดตามอ่านความรู้ด้านกลยุทธ์การตลาดได้ในบทความครั้งต่อไป
กับ อ.ออดี้ – กิตติชัย ได้ใน Blog ของ นินจาการตลาด ที่นี่…
