ก่อนหน้านี้ปี 2023 เราคงเคยได้ยินเรื่องเทรนด์ Quiet Luxury ที่หมายถึง การใช้จ่ายแบบมีรสนิยมแต่ไม่โอ้อวด เน้นคุณภาพไม่เน้นแบรนด์ ดูรวยแบบใช้เงินไม่มากโพสต์ลงบนโซเชี่ยล
แต่เศรษฐกิจตอนนี้ทั้งไทยและทั่วโลก ที่เงินทองหายากแถมสินค้าขยับราคาต่อเนื่องกระทบคนทุกอาชีพ ทำให้คำว่าของมันต้องมี หรือการเห่อซื้อของตามอินฟลูเอนเซอร์ดูจะลดน้อยลงไปตามสภาพตังค์ในกระเป๋า ทำให้เทรนด์ Quiet Luxury ถูกมองว่าไม่ช่วยให้ประหยัด เก็บเงินไม่สำเร็จอยู่ดี
.
เรื่องนี้เลยกลายเป็นกระแสไวรัลของคน Gen Z มาตั้งแต่ต้นปี 2024 นั่นคือคำว่า Loud Budgeting ที่กลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยม และถูกใช้ใน TikTok เกิน 16.7 ล้านครั้งไปเป็นที่เรียบร้อย
ต้นเรื่องมาจากนาย Lukas Battle เจ้าของคลิป TikTok ที่โพสต์ว่า Quiet Luxury มันใช้ไม่ได้แล้วกับสถานการณ์การเงินในยุคนี้ ถึงเวลาต้องใช้ Loud Budgeting คือพูดไปตรงๆ เลย เวลาเจอเพื่อนชวนกินเที่ยว ก็ไม่ต้องฝืนใจไปเพราะต้องประหยัดตังค์ เช่น โทษทีว่ะ เย็นนี้ไปกินตี๋น้อยด้วยไม่ได้ ตังค์มีเหลือไม่กี่ร้อยเอง
.
Battle เสริมว่าจริงๆ แล้วไอ้คำ Loud Budgeting แค่สร้างมาเพื่ออยากจะเปิดโอกาสให้คนที่พูดถึงความตั้งใจที่อยากจะประหยัดเงินได้แบบคูลๆ สนุกสนาน เพราะไม่ค่อยเห็นมีใครใช้คำที่เกี่ยวกับการไม่อยากใช้เงินมากนัก
.
นอกจากนี้เขายังมองว่า Quiet Luxury คือเทรนด์มายาคติสะกดจิตคนให้ต้องใช้จ่ายเงินตามคนดัง ซึ่งแตกต่างคนละโลกกับ Loud Budgeting ที่เราสามารถทำได้จริงง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ใครๆ ก็สามารถเท่และมีสไตล์ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินอะไรเยอะแยะ
.
และนั่นคือที่มาของคำว่า “It’s not I don’t have enough, it’s I don’t want to spend” คือไม่ใช่ข้าไม่มีตังค์จะซื้อนะ แต่แค่ต้องการจะเอาตังค์ส่วนนั้นน่ะ ไปใช้จ่ายในเรื่องมีประโยชน์ในการดำรงชีวิตของตนเองจะดีกว่า
.
ประเด็นนี้ฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์ของ U.S. Bank บริษัทโฮลดิ้งธนาคาร อธิบายว่า Loud Budgeting ช่วยได้มากในการทำให้คนรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง ในขณะที่ต้องดิ้นรนจัดการหาเงิน ไม่ต้องละอายใจหรือรู้สึกผิดกับการเงินของตัวเอง แถมโชว์ให้เห็นว่าใช้จ่ายเงินอย่างมีคุณภาพ ดีกว่าฉาบฉวยไร้เป้าหมาย
.
สิ่งที่น่าสนใจจากผลการศึกษาของ Empower บริษัทให้บริการทางการเงิน ระบุว่าคนอเมริกา 73% เครียดเรื่องเงินตัวเอง และคนรุ่นใหม่เครียดเกินครึ่ง (56% ของคน Gen Z) ถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะช็อตเงิน ถือว่าสูงมากกว่าคน Gen X ที่มีแค่ 37% และ Baby Boomer ที่มีแค่ 20% เท่านั้นเอง
.
Insight ของคนอเมริกัน 67% ยอมรับว่ามีรายได้ไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ เลยต้องวางแผนการเงินกันใหม่ และต้องลดค่าใช้จ่ายลง โดย Empower เผยว่าที่คน Gen Z ชีวิตเครียดหนักมาก เพราะกลุ่มนี้มีเงินไม่พอที่จะซื้อหรือเช่าบ้านเป็นของตัวเอง เลยจำใจต้องอยู่กับพ่อแม่ แถมต้องกู้เงินเรียนหนังสือ
.
พอเป็นแบบนี้ปุ๊บ หลายคนเลยต้องจัดลำดับความสำคัญการใช้เงิน โฟกัสไปที่ค่ากับข้าวและที่อยู่อาศัย มากกว่าซื้อของฟุ่มเฟือย เลยทำให้ Loud Budgeting ช่วยสร้างกำลังใจให้กับคนที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินได้มาก
หลักการ 5 ข้อ The Principles of Loud Budgeting
.
1) Be True to Who You Are
โฟกัสที่ตัวเราเอง ใช้จ่ายเงินตามความจำเป็นของตัวเอง ไม่ใช้เงินเพื่อความพอใจของคนอื่น และจงรู้สึกมีคุณค่าในแนวทางการใช้ชีวิตของตัวเอง
.
2) Put Your Financial Priorities First
จัดลำดับความสำคัญการใช้เงิน ถ้าเราควบคุมเงินไม่ได้ เงินจะควบคุมเราแทน หลายครั้งเกิดจากความไม่รู้จักพอ ดังนั้นต้องสร้างเป้าหมายเก็บเงินให้สำเร็จ
.
3) It’s Not “I Don’t Have Enough Money”
ไม่ใช่ว่าฉันไม่มีตังค์ซื้อ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความจนรวย เพราะหลายคนเลือกปฎิเสธไม่ซื้อของแพง ทั้งที่ซื้อได้แน่นอน แต่อยากสร้างวินัยทางการเงินต่างหาก
.
4) Challenge Yourself to Do Better
ท้าทายตัวเองให้ประหยัดได้กว่านี้ ลองฝึกตัวเองให้ประหยัดจนเป็นนิสัย เช่นการมองหาส่วนลด การเปรียบเทียบราคาแต่ละร้าน รู้จักต่อรองราคา หรือการซื้อของมือสองที่คุ้มค่ากว่า
.
5) Send a Message to Corporate
ทุกวันนี้สินค้ามีแต่แพงขึ้นกระทบยันคนรากหญ้า การวางแผนประหยัดเงินก็เป็นการส่งเสียงไปยังบริษัทสินค้าต่างๆ ว่าแพงนักก็เลิกอุดหนุนแล้วกัน เพราะเงินมันหายาก
.
เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ชักเริ่มไม่สนใจจะใช้เงินมือเติบแล้ว และยังพอใจจะใช้เงินแบบคนฉลาดให้คุ้มค่า ดังนั้นนี่คือสิ่งที่แบรนด์หรูและนักการตลาดต้องปรับตัว เรียนรู้เพื่อนำมาคิดวิเคราะห์กลยุทธ์ ว่าจะทำอย่างไรให้แคมเปญถึงโดนใจคนกลุ่มนี้ได้ มิฉะนั้นธุรกิจหรือแบรนด์ของเราอาจสะดุดได้นั่นเอง
.
ใครอ่านแล้วลองปรับไปใช้กับชีวิตเราได้เลย วางแผนการใช้จ่ายเงินตั้งแต่วันนี้ แล้วอย่าลืมแปะแฮชแท็ค#LoudBudgeting ทำตามดูว่าเวิร์คไหม ประหยัดเงินอย่างไรบ้าง วอนคอมเมนต์ให้เราฟังด้วยนะ
.