หลายเพจต่างๆ แห่พากันทำ Real-Time Content กันยกใหญ่ หลังจากประโยค “ถ้ามี่มีคอนเสิร์ตใหญ่ อยากทราบว่าจะมากันสักกี่คนคะ ได้กะถูกค่ะ” กลายเป็นมีมฮิตติดลมบนในโลกโซเชียล จนทุกเพจต้องหยิบประโยควลีนี้ไปเล่นขายของกันหมด
ความแรงของไวรัลตัวอักษรที่มีเสียงเรียกความฮานี้ หลังโพสต์ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ไป บรรดาเอฟซีของนักร้องสาวแห่กันเข้ามาสร้างยอด Engagement พุ่งกระฉูด มีคนกดไลค์ 2.2 แสน ยอดคอมเมนต์ 2.8 หมื่น และมียอดแชร์ 2.2 หมื่น ไม่แปลกใจเลยที่เพจธุรกิจสินค้าบริการต่างๆ ต้องรีบโดดเกาะกระแสนี้กันเป็นแถว
ทั้งๆ ที่มันเป็นแค่โพสต์คำถามธรรมดาๆ จากเพจปาล์มมี่ ที่แค่ซาวเสียงอยากรู้ว่าถ้าจัดคอนเสิร์ตจะมีคนมาดูเยอะมั้ย ก่อนสุดท้ายเพจจะเฉลยแล้วว่า ปาล์มมี่กำลังจะมีแพลนจัดคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองในรอบ 12 ปีเป็นที่แน่นอนแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะกลายเป็นเรื่องตลกขึ้นมาได้
เอาล่ะ ในแง่การตลาด เราไม่มีทางรู้ครับว่าอะไรจะเป็นกระแส และมันพร้อมจะมาแทนที่สิ่งที่แบรนด์อยากนำเสนอได้ตลอดเวลา ดังนั้นการเอาแบรนด์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระแสหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยการสร้าง Real-time Content จึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหลายแบรนด์ทำแล้วได้ผลดี บางแบรนด์ก็ทำแล้วเงียบกริบ
.
เพราะการทำการตลาดโดยใช้เรื่องราวที่กำลังประเด็นในสังคม ต้องต้องรวดเร็ว กระชับ เข้าใจง่าย และตลก ให้คนเห็นแล้วชอบ รู้สึกว่าแบรนด์มีความคิดสร้างสรรค์ จนอยากแชร์ต่อ และสนใจแบรนด์ในท้ายที่สุด ทีนี้เราไปดูกันครับว่า ข้อดีข้อเสียของคอนเทนต์เกาะกระแสแบบนี้มีอะไรบ้าง
ข้อดีของการทำ Real-Time Content
1. เพิ่มยอด Engagement
.
Engagement หรือ การมีส่วนร่วมต่อโพสต์คอนเทนต์เรา ไม่ว่าจะ “ไลก์ เม้น แชร์ กดดู” อย่างใดอย่างหนึ่ง ยิ่งคนมีส่วนร่วมต่อโพสต์มากเท่าไร่ ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น ถือเป็นการโปรโมทแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการทำ Real-Time Content จึงถือเป็นไอเดียที่ช่วยสร้างยอดได้ดีนั่นเอง
2. เพิ่มการเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น
.
การทำคอนเทนต์กระแส มาต่อยอดให้เกิดคอนเทนต์ใหม่เข้าใจง่าย และตรงกับแบรนด์ ช่วยเพิ่มโอกาสในการมองเห็นและเข้าถึงแบรนด์ได้มากขึ้น ยิ่งหากแบรนด์ไหนใส่ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์หรือคำโดน ๆ ที่ฮิตติดเทรนด์เข้าไปด้วยแล้วนั้น จะช่วยสร้างการจดจำแบรนด์ได้ง่ายมากขึ้นอย่างแน่นอน
3. เพิ่มความหลากหลายให้คอนเทนต์
.
ยิ่งคอนเทนต์มีความหลากหลาย ยิ่งเพิ่มความแปลกใหม่ให้กับแบรนด์ และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น Real-Time Content จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความหลากหลาย เติมแต่ง ใส่ไอเดียลงไปได้มากขึ้น
ข้อควรระวังในการทำ Real-Time Content
.
1. ความไวเป็นของปีศาจ Real-Time Content ต้องอาศัยความเร็วเป็นหลัก หากทำช้ากว่าคู่แข่งในตลาด ก็อาจทำให้คอนเทนต์ไม่น่าสนใจได้ กลายเป็นตกกระแสไปโดยไม่รู้ตัว
.
2. บางเหตุการณ์ เช่น ดาราถูกล้อเลียน (Bully) หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหน้าตา หรือแม้แต่ความตลกที่เลยเถิด ก็ไม่ควรนำมาทำคอนเทนต์แบบนี้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน กระทบต่อสิทธิ และความรู้สึกของผู้อื่น จึงควรต้องระวังให้ดี
.
3. บางแบรนด์ที่เน้นการทำ Real-time Content มากเกินไป เน้นกระแส อาจสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของแบรนด์ไปเลย ส่งผลให้ผู้คนจดจำแบรนด์ไม่ได้ และเสียโอกาสที่จะเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม
สรุปแล้วการทำ Real-Time Content สิ่งสำคัญนอกจากความเร็ว คือความคิดสร้างสรรค์ เพราะต่อให้เกาะกระแสได้รวดเร็ว แต่คนเห็นแล้วไม่เข้าใจ ซับซ้อนไม่ตลก ยิ่งทำให้คอนเทนต์ของเราไม่ได้รับความสนใจ และไม่เกิดการบอกต่อนั่นเอง
.
อีกทั้งยังเกิดผลลบต่อแบรนด์ จึงต้องมีความระมัดระวังในการทำการคอนเทนต์แบบนี้ ทางที่ดีเราไม่จำเป็นต้องตามกระแสทุกอย่าง แต่เน้นสร้างตัวตนของแบรนด์ให้ชัด เพื่อดึงดูดลูกค้าให้สนใจและติดตามแบรนด์ต่อไป อย่าให้แบรนด์สูญเสียตัวตน เพราะวิ่งไล่ตามกระแสทุกเหตุการณ์จะดีที่สุดครับ
ใครอ่านเรื่องนี้จบแล้ว ลองบอกหน่อย ว่าถ้าเราเป็นเจ้าของแบรนด์ จะใช้ประโยค “ถ้ามี่มีคอนเสิร์ตใหญ่ อยากทราบว่าจะมากันสักกี่คนคะ ได้กะถูกค่ะ” มาทำ Real-Time Content ยังไงให้เข้ากับสินค้าของเรา มาแชร์ไอเดียสนุกๆ ลงในคอมเมนต์ด้านล่างได้เลยครับ