เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็หันมาทำคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอกันทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะรู้จัก และเข้าใจหลักของวิดีโอคอนเทนต์แบบจริง ๆ จัง ๆ และบางคนอาจจะมีความคิดที่ว่า วิดีโอมันก็เหมือน ๆ กันหมดนั่นแหละ
ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์เลยล่ะ เพราะก่อนที่เราจะทำคอนเทนต์อะไร หรือรูปแบบใดก็ตาม เราควรที่จะรู้จักและเข้าใจมันก่อนว่า แต่ละรูปแบบนั้น มันคืออะไร และจะนำไปใช้งานเมื่อไหร่ อย่างไรบ้าง และเราควรจะตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนด้วยว่า คอนเทนต์ที่เราทำนั้น มีจุดประสงค์เพื่ออะไร จะได้ไม่หลงทางในขณะที่ทำ ไม่งั้นเราเองเนี่ยแหละ ที่จะเสียทั้งเงินและเวลาในการทำคอนเทนต์ แต่ไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย
.
วันนี้ นินจาการตลาดจะมาชี้แจงแถลงไข ถึงหลักคิดในการทำวิดีโอคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับการสื่อสารการตลาดกับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการเข้าใจรูปแบบของวิดีโอที่แตกต่างกัน 3 แบบ [Branded Videos/ Demo Videos/ Interactive Demos] ให้รู้แจ้งโดยทั่วกัน จะได้นำไปปรับใช้ หรืออัปเกรดการนำเสนอสินค้า/ บริการของเรา ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น (กดเพื่ออ่านต่อ)
อ่านต่อ
สำหรับ Video Contents นั้น ในรูปแบบแรกที่นินจาการตลาดอยากเล่าให้พวกเราฟังกัน ได้แก่
1. Branded Videos
.
ต้องบอกเลยว่า เราเห็นวิดีโอคอนเทนต์ประเภท Branded Videos กันมาตั้งแต่เด็กเลยนะครับ แต่เราอาจจะไม่ค่อยรู้ตัวกัน
.
วิดีโอรูปแบบนี้ จะเน้นการเล่าเรื่องเป็นหลัก โดยใช้อารมณ์ + ความบันเทิงในการเล่าเรื่อง ซึ่งเนื้อหาจะไม่ใช่การขายของโต้ง ๆ ตั้งแต่แรก แต่อาจจะแอบแฝงอยู่ในเรื่องที่เราเล่านั่นแหละ หรือบางครั้งก็ไม่มีเลย โดยในระหว่างที่ดูวิดีโอนั้น เราจะไม่รู้เลยว่าเป็นวิดีโอโฆษณา หรือรู้ว่าขายของแน่ ๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าแบรนด์อะไรอยู่ดี เพราะไม่มีโลโก้หรือสัญญาณอะไรบอกเราเลยในคลิป จะมารู้ตัวกันอีกทีก็ตอนเฉลยตอนท้าย ที่มีโลโก้หรือสโลแกนโผล่ขึ้นมา ซึ่งก็มีอยู่หลายคลิปหลายแบรนด์ที่เราจดจำกันได้ไม่รู้ลืมเลยทีเดียว
.
ลองนึกกันดูเล่น ๆ สิครับว่า จากที่อ่านความหมายของ Branded Videos มาแล้ว นึกถึงคลิปวิดีโอแบรนด์อะไรกันบ้าง ? เชื่อว่าต้องมีคนจำนวนไม่น้อยที่นึกถึง “ไทยประกันชีวิต” ใช่ไหมล่ะครับ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีสำหรับ Branded Videos เลย สังเกตสิว่าตลอดเวลาที่เราดูคลิปของไทยประกันชีวิต แทบจะไม่มีการขายประกันเลยแม้แต่วินาทีเดียว แต่จะเป็นการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้คนตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตอะไรทำนองนั้นมากกว่า จนกลายเป็นภาพจำของแบรนด์ไปแล้วว่าเป็นนักดราม่าตัวยง
Video: ไทยประกันชีวิต
จากตัวอย่างของไทยประกันชีวิตนั้น คงจะเห็นกันได้อย่างเด่นชัดเลยว่า การทำคอนเทนต์ในรูปแบบ Branded Videos มีส่วนช่วยให้คน Remind หรือจดจำแบรนด์ของเราได้ดีมาก เพราะมันมีเรื่องของอารมณ์ + ความบันเทิงเข้ามาเกี่ยวด้วย อย่างที่เราได้บอกไปในตอนต้น ก็เลยทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วม และอินไปกับมันได้ง่าย บวกกับการตบท้ายด้วยโลโก้หรือชื่อแบรนด์ของเราเข้าไป ก็ยิ่งจำง่ายเข้าไปอีกว่า เคยดูวิดีโอนี้ของแบรนด์นี้นั่นเอง
.
บางแบรนด์อาจจะแทรกการนำเสนอแบรนด์เข้าไปในช่วงกลาง ๆ ของวิดีโอเลย ก็มี ซึ่งหลาย ๆ แบรนด์ก็ทำได้ดีมาก ตรงที่ว่าผู้ชมจดจำแบรนด์ได้แบบไม่รู้สึกว่าถูกรบกวน และก็ยังอินอยู่กับเนื้อหาของคลิปวิดีโอนั้น ๆ ด้วย
.
วิดีโอประเภทนี้ จะเน้นการทำให้ผู้คนจดจำแบรนด์เป็นหลัก เหมาะกับแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้าตลาด หากแบรนด์ไหนที่เพิ่งนำสินค้าและบริการที่ยังไม่เป็นที่รู้จักเข้ามาสู่ตลาดโดยตั้งใจจะสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอแล้วละก็ นินจาการตลาดแนะนำ Branded Videos ให้เป็นรูปแบบหนึ่งที่ไม่อยากให้แบรนด์มองข้ามที่จะเลือกใช้เป็นอันดับแรก ๆ ก่อนนำเสนอขายแบบจริงจัง
2. Demo Videos
.
จะเป็นวิดีโอที่เน้นเกี่ยวกับวิธีการใช้งานที่ถูกต้องของสินค้า/ บริการของเรา หรือทำให้เห็นว่าสินค้าของเรา ช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าได้อย่างไร มีความคล้ายกับการทำ User Manuals เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและสั่งซื้อของลูกค้านั่นเอง ซึ่งควรจะเป็นคลิปที่ถ่ายจากสินค้าจริง ๆ มากกว่าการทำเป็นภาพกราฟิกมากเกินไป เพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยากที่จะรู้และเห็นก่อนว่า เมื่อซื้อสินค้าไปแล้วต้องใช้งานอย่างไร จะได้ไม่ซื้อมาเก้อ เพราะว่าใช้งานไม่เป็น
.
ยิ่งถ้าสินค้า/ บริการของคุณ มีวิธีการใช้งานหลายขั้นตอน หรือเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ไม่ค่อยแพร่หลายในวงกว้าง ทำให้การใช้งานที่เรารู้สึกว่ามันง่าย อาจจะยากสำหรับลูกค้าคนอื่น ๆ ก็แนะนำว่าให้ทำ Demo Videos ไว้ เพื่อส่งให้ลูกค้าก็ดี โพสต์ลงโซเชียลมีเดียก็ดี หรือโพสต์ไว้บนเว็บไซต์เลยก็ยิ่งดี เพราะการที่ลูกค้าเข้ามาถึงจุดที่เป็น categories สินค้าของเราแล้ว ก็แปลว่าเขารู้จักและสนใจในสินค้าของเราไม่มากก็น้อยแล้วล่ะ ยิ่งถ้ามีวิดีโอตัวนี้เสริมเข้ามา ก็น่าจะปิดการขายได้อยู่พอสมควร
Video: Nespresso
จำไว้ว่า Demo Videos ควรจะถูกนำเสนอให้กลุ่มเป้าหมายที่ผ่านขั้นการรับรู้แบรนด์มาแล้ว เพราะเนื้อหานี้เป็นเนื้อหาที่ลงรายละเอียดของสินค้ามาก ๆ ไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะไปแสดงผลให้ผู้คนที่ไม่เคยรู้จักแบรนด์มาก่อน หากเป็นอย่างนั้น ต้นทุนของวิดีโอนี้จะสูงมากเมื่อเทียบผลที่ได้รับจากการมีส่วนร่วมหรือการตัดสินใจของลูกค้ากับจำนวนการแสดงผล
.
พูดให้เห็นภาพชัด ๆ แบบนี้นะครับ เช่น
.
ถ้า Demo Videos ถูก นำเสนอให้แสดงผลกับผู้คน 1 แสนคนที่เคยรู้จักแบรนด์มาก่อนแล้ว (อาจจะรู้จักจาก Branded Videos หรือ Awareness Content รูปแบบอื่น ๆ) ตัวเลขผลลัพท์ (Engagement, Conversion) ที่ออกมาจะมีตัวเลขจำนวนที่มากกว่า การนำ Demo Videos ไปแสดงผลกับผู้คน 1 แสนคนเท่า ๆ กัน แต่เป็นผู้คนที่ไม่เคยรู้จักแบรนด์มากก่อน
3. Interactive Demos
.
ชื่อนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกันสักเท่าไหร่ ถ้าจะให้อธิบายสั้น ๆ ก็คือ เป็นการที่สิ่งสองสิ่งมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน โดยรูปแบบนี้จะไม่ใช่วิดีโอปกตินะครับ แต่จะเป็นฟีเจอร์ที่อยู่ในหน้าเดียวกับ categories ของสินค้าเรา เช่น ถ้าสินค้าของคุณมีหลายสี เวลาลูกค้ากดเลือกสีที่ต้องการ รูปสินค้าที่ปรากฏอยู่บนจอก็จะเปลี่ยนสีตามไปด้วย โดยไม่ต้องกดเปลี่ยนหน้าสินค้าไปมา
.
อย่างที่ได้บอกไปในหัวข้อที่แล้วว่า การที่ลูกค้าเข้ามาถึง categories สินค้าของเราแล้วนั้น ก็แปลว่าลูกค้าต้องแอบมีใจให้กับสินค้าของเราบ้างแหละ เราก็แค่ต้องหาวิธีปิดการขายกับลูกค้ากลุ่มนี้ให้ได้ ซึ่งอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการโน้มน้าวใจลูกค้า ให้ตกลงปลงใจซื้อสินค้าเรานั้น ก็คือ เจ้า Interactive Demos นี่แหละครับ เพื่อให้ลูกค้าได้ลองเล่นดูก่อนว่า ถ้าอยากได้สินค้าสีนี้ รูปแบบนี้ มันจะออกมาเป็นยังไง ใช่แบบที่ตั้งใจไว้หรือเปล่า ซึ่งถ้าถูกใจใช่เลย ลูกค้าก็คงจะไม่หนีไปไหนแน่นอน
Source: www.nike.com/th/